เปิดผลวินิจฉัย ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมเปิดฟังความเห็น ‘โปรเจคจะนะ’

เปิดผลวินิจฉัย ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมเปิดฟังความเห็น ‘โปรเจคจะนะ’

สำนักงานตรวจการแผ่นดิน ปัดข้อร้องเรียน ศอ.บต.ไม่เปิดรับฟังความเห็นประชาชน โครงการนิคมฯ จะนะ ระบุทำตามมติ ครม. มีความก้าวหน้าทำงานต่อเนื่อง คาดว่าการปรับปรุงใช้ประโยชน์ที่ดินจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

รายงานข่าวจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งผลวินิจฉัยถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 โดยชี้แจงกรณีผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างว่า ศอ.บต. ไม่ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้าน ไม่เป็นธรรม และไม่มีมาตรฐาน ก่อนดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำให้เกิดความขัดแย้งและเดือดร้อนแก่ประชาชน

ทั้งนี้ จากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า ศอ.บต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ตำบลบ้านทับ ตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประชาชนในพื้นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการดังกล่าวและอาจได้รับความเดือดร้อนและเสียหายโดยตรงจากการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548

โดย ศอ.บต. ได้ประกาศเชิญชวนประชาชนให้แสดงความคิดเห็นในระหว่างเดือนเมษายน 2563 - กรกฎาคม 2563 ใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 วิธี ดังนี้ 

1.ทางเว็บไซต์ www.publicconsultation.opm.go.th 

2.การจัดประชุมกลุ่มย่อย 

3.การแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือ 

4.การสัมภาษณ์รายบุคคล 

5.การจัดเวทีประชาชนแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา และได้ทำการประกาศรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนได้รับทราบเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ แล้ว
 

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่า ศอ.บต. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน ปัญหาตามข้อร้องเรียนเรื่องนี้จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 22 (2) ตามประกาศกระทรวงแผ่นดิน พ.ศ.2562 กำหนดเรื่องที่ผู้ตรวจการแแผ่นดินไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 37(8) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ “วินิจฉัยให้ยุติเรื่อง” ร้องเรียนนี้ อย่างไรก็ดี หากผู้ร้องเรียนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมมีข้อคิดเห็นหรือข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการดังกล่าว สามารถเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบหรือทาง ศอ.บต. ในฐานะผู้ดำเนินการต่อไปได้

สำหรับโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ให้ขยายผลโครงการสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เพื่อยกระดับการพัฒนา 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย โดยให้ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติครม. อย่างเคร่งครัด

ซึ่งต่อมาได้มีกลุ่มประชาชนในนาม “จะนะรักษ์ถิ่น” ร่วมกับเครือข่ายผู้คัดค้านจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เครือข่ายคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน พยายามคัดค้านและขัดขวางไม่ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ยังมีการแสดงทัศนะ ออกรายการโทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงจุดยืนในเชิงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลและส่วนราชการในสถานที่ราชการ รวมทั้งมีการยื่นเอกสารคัดค้านโครงการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้มีคำสั่งระงับการดำเนินโครงการดังกล่าว

รวมทั้งเมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จึงพิจารณามีมติให้ยุติเรื่องและมีข้อสังเกตไปยัง ศอ.บต. ในกรณีเข้าไปดำเนินกิจกรรมหรือโครงการในพื้นที่ ควรประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบและมีส่วนร่วม

ด้าน ศอ.บต. จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมของฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการความร่วมมือและสร้างความเข้าใจในมิติเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งจัดทำเวทีสร้างการรับรู้ให้กับผู้นำประชาชนระดับพื้นที่ทุกระดับ ประกอบด้วยผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้แทนภาคประชาชน เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา ศอ.บต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี และมติที่ประชุมของคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีความก้าวหน้าของการทำงาน ดังนี้

1.จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ พิจารณาศักยภาพ โอกาส และข้อจำกัดของพื้นที่ทุกมิติ รวมทั้งนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาประกอบการจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) โดยจะมีการว่าจ้างสถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเพื่อให้ผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับ ขณะนี้ ศอ.บต. ได้เชิญชวนผู้รับจ้างไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อยื่นเสนอราคา โดยกระบวนการจะใช้เวลาทั้งสิ้น 8 เดือน แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565

2.ศึกษาความเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีกลุ่มที่ปรึกษามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยสุรนารีเป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งได้ตรวจรับรายงานฉบับสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว

3.การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนจังหวัดสงขลาอยู่ในขั้นตอนที่ 3 คือการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากสถานาการณ์คลี่คลายการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะมีระยะเวลาดำเนินการ 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 หลังจากนั้นจะมีการดำเนินงานอีก 5 ขั้นตอน รวมแล้วจะเสร็จภายใน 9 เดือน