กนศ.นัดเอ็นจีโอ-เอกชน เคลียร์ปม ซีพีทีพีพี 20 ธ.ค.นี้

กนศ.นัดเอ็นจีโอ-เอกชน เคลียร์ปม ซีพีทีพีพี 20 ธ.ค.นี้

“ดอน” เรียกประชุมด่วน 8 ธ.ค.นี้ หวังหารือเตรียมเสนอ “ครม.” ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” ภายในสิ้นปีนี้ แต่ต้องยกเลิก หลังข่าวรั่ว รอนัดเคลียร์ 20 ธ.ค.นี้ ก่อนเอาผลให้ “กนศ.-ครม.” เคาะเข้าร่วมหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เรียกประชุมกนศ.เป็นการด่วนในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ เพื่อหารือถึงเรื่องที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ธ.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบให้ไทยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงไปยังฝ่ายเลขานุการความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เพื่อขอเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิก หลังจากการประชุมครม.สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมให้นายดอน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เร่งรัดดำเนินการ  

ทั้งนี้เพราะคาดว่า คณะทำงานรับสมาชิกใหม่ของซีพีทีพีพี จะพิจารณารับสมาชิกใหม่ภายในไตรมาสแรกปี 65 หลังจากสหราชอาณาจักร จีน และไต้หวัน ได้ส่งแสดงเจตจำนงเข้าร่วมแล้ว ส่งผลให้ไทยต้องเร่งส่งหนังสือภายในสิ้นปีนี้

 

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีข่าวแพร่สะพัดออกไปว่า   จะมีการประชุมกนศ.ด่วนวันที่ 8 ธ.ค.นี้ ทำให้ภาคเอกชนโทรศัพท์ถึงนายดอน เพื่อขอให้รอผลการประชุมวันที่ 20 ธ.ค.นี้ก่อน  ส่งผลให้การประชุมกนศ.วันที่ 8 ธ.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอผลการประชุมวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ซึ่ง กนศ.มีวาระจะหารือร่วมกับเอ็นจีโอ และภาคเอกชนอยู่แล้ว เพื่อหาทางออกร่วมกันก่อนที่จะสมัครเป็นสมาชิก ก่อนที่จะเสนอให้ครม.เห็นชอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อไป

ทั้งนี้การตัดสินใจเข้าร่วมซีพีทีพีพี  ยังมีความกังวลของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) และภาคเกษตรว่าไทยยังไม่พร้อมรับการแข่งขัน ที่มีมาตรฐานสูง และยังมีจุดอ่อน ที่จะทำให้เสียเปรียบมากกว่าได้ประโยชน์ และคัดค้านการเข้าร่วมจนกว่าไทยจะพร้อมอย่างแท้จริงก่อน 

นอกจากนี้ ไทยยังไม่ได้ดำเนินการหลายด้าน โดยเฉพาะการดำเนินการตามผลศึกษาข้อดีข้อเสียของคณะกรรมาธิการศึกษาข้อดีข้อเสียของซีพีทีพีพี วุฒิสภา ที่เสนอให้ไทยเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเป็นสมาชิก ทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายใน และการช่วยเหลือภาคเอกชน เกษตรกร ในการปรับตัวให้พร้อมรับการแข่งขัน อีกทั้งขณะนี้ ไทยยังไม่มีกรอบการเจรจาที่ชัดเจน ที่จะใช้เป็นแนวทางเจรจาต่อรองกับสมาชิกทั้ง 11 ประเทศ เพราะตามมติกนศ.เมื่อวันที่ 18 ต.ค.64 ให้จัดทำกรอบการเจรจาโดยยึดข้อมูลของ 24 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่จนถึงขณะนี้ หน่วยงานต่างๆ ยังส่งข้อมูลให้กนศ.ไม่ครบถ้วน จึงยังจัดทำกรอบการเจรจาไม่ได้  

ขณะเดียวกัน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงประเด็นต่างๆ ตามที่องค์กรผู้บริโภค และภาคประชาสังคมสอบถามมา แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้มีการชี้แจงใดๆ แม้มติกนศ.วันที่ 18 ต.ค.64 ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะ และได้เสนอให้นายดอนพิจารณาเห็นชอบแล้ว แต่นายดอนยังไม่ได้พิจารณา ส่งผลให้คณะทำงานฯยังไม่สามารถสื่อสารข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับซีพีทีพีพีต่อสาธารณะได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า การเร่งรัดเข้าร่วมเป็นสมาชิก ทั้งๆ ที่ไทยยังไม่ได้ดำเนินการต่างๆ ให้แล้วเสร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี ที่เข้ามาลงทุนในไทย ล็อบบี้ให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ เพื่อหวังผลประโยชน์ของตนเองในประเทศไทย ส่งผลให้เป็นรัฐบาลไทย เร่งรัดเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยอ้างว่า ส่งหนังสือไปก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะจัดทำกรอบเจรจา สามารถดำเนินการในภายหลังได้