สกพอ. ดันต้นแบบ อีอีซี งบบูรณาการ หนุนลงทุน

สกพอ. ดันต้นแบบ อีอีซี  งบบูรณาการ หนุนลงทุน

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นโครงการสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเป้าหมายมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันถือเป็นต้นแบบการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งท้องถิ่น

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยในงานเสวนา “เปิดความสำเร็จการเป็นต้นแบบแผนงานบูรณาการ สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน” ว่าการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่รัฐบาลมี “ข้อจำกัดทางงบประมาณ” ในระหว่างเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 

สกพอ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานที่ทำงานในรูปแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ 3จังหวัดในอีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง 

สำหรับการบูรณาการที่สำคัญ คือ การบูรณาการงบประมาณในช่วง 4 ปีท่ีผ่านมา (2561-2564) หากคิดเฉพาะงบของ สกพอ.มีเพียง 2,304 ล้านบาท หรือ 0.1% ​ของการลงทุนที่อนุมัติแล้วในอีอีซีเท่านั้น แต่มีการลงทุนที่ได้อนุมัติในอีอีซีมากกว่า 1.6 ล้านล้านบาท โดยมาจากการบูรณาการงบรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 82,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของการลงทุนที่ได้อนุมัติ หมายความว่าอีอีซีใช้งบรัฐเพียง 5% เพื่อดึงการลงทุนอีก 95% จากภาคเอกชน 

ทั้งนี้โมเดลจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการเป็นแนวทางที่จำเป็นเพราะหลังการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 6.1% เท่ากับรายได้ประชาชาติหายไป 2 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลต้องกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท รวมแล้วผลกระทบจากโควิด-19 เกิน 3 ล้านล้านบาท  โดยปี 2564 เศรษฐกิจคงขยายตัวได้ 1% และถ้าปี 2565 ไม่มีปัญหาคงขยายได้ 4% 

“แนวโน้มขาดดุลการคลังมีมากขึ้น รายได้ของรัฐไม่พอรายจ่าย ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้ารายได้จากภาษีคงไม่ฟื้นตัวเร็ว โดยรัฐบาลต้องใช้งบดูแลเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องกู้เงินทำให้หนี้สาธารณะมากขึ้นแม้วันนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี แต่ปี 2565 เกินแน่ ซึ่งไม่มีปัญหาในเชิงเศรษฐศาสตร์ ้ แต่ต้องระมัดระวังการใช้งบประมาณมากขึ้นทำให้การใช้งบประมาณบูรณาการมีความจำเป็นขึ้น โดยรวมถึงการลงทุนของท้องถิ่นและเอกชน” 

สกพอ. ดันต้นแบบ อีอีซี  งบบูรณาการ หนุนลงทุน

ทั้งนี้ สกพอ.เตรียมแนวทางจัดทำงบบูรณาการในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในอีอีซีไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท และผลักดันให้จีดีพีในอีอีซีขยายตัวได้ 6.3% ต่อปี  มีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 30,000 ตำแหน่งต่อปี เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและรายได้ประชาชนในพื้นที่ต้องดีขึ้นรวมทั้ง สกพอ.กำหนด 4 แนวทางตามภารกิจที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ในลักษณะต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ได้แก่ 

1.ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคและระบบดิจิทัลเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชนรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

2.พัฒนาและยกระดับบุคลากรการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมหลอมรวมการศึกษาพัฒนาทักษะบุคลากรสู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมรองรับการวิจัยชั้นนำพร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์

3.พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนพลิกฟื้นเศรษฐกิจสร้างระบบนิเวศเมืองด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเกษตรอัจฉริยะสาธารณสุขเมืองน่าอยู่และสิ่งแวดล้อม

4.ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตระยะยาว

 

ธัญรัตน์ อินทร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านนโยบายและแผน สกพอ.กล่าวว่า การทำงานรูปแบบบูรณาการงบประมาณและการทำงานของอีอีซีมีกุญแจในความสำเร็จ คือ การทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ เน้นทำความเข้าใจพูดคุยเป้าหมายที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่บูรณาการงบประมาณกับหน่วยงานราชการแต่เป็นการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและเอกชนในพื้น โดยถอดบทเรียนความสำเร็จของแผนงานบูรณาการอีอีซี เป็น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ร่วมกำหนดทิศทางของแผนงานบูรณาการอย่างชัดเจน 2.จัดทำและบริหารจัดการงบบูรณาการแบบใหม่ในแนวทางร่วมคิดร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา 3.กำหนดแนวทางและมาตรฐาน ของหน่วยงาน พร้อมจัดทำโครงการร่วมกันในภาพรวม (Project Based) 4.การทำงานร่วมกับหน่วยรับงบประมาณ แบบเชิงรุก 5.จัดทำระบบและบูรณาการข้อมูลร่วมกัน

สำหรับการทำงานบูรณาการงบประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นรูปธรรม เช่น การติดตั้งเสาส่งสัญญาณ 5 G (5G smart pole) การพัฒนาบุคลากรด้วยหลัก Demand Driven จำนวน 1.3 แสนคน การพัฒนาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์พัทยาสู่ Digital Hospital Sandbox 

รวมถึงโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว Neo พัทยา โครงการตลาดลานโพธิ์-นาเกลือ โครงการจัดตั้งศูนย์เครือข่าย 5 แห่ง 1 สถาบัน โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)