“บีโอไอ” เพิ่มสิทธิประโยชน์ จูงใจลงทุนกิจการ “BCG”

“บีโอไอ” เพิ่มสิทธิประโยชน์ จูงใจลงทุนกิจการ “BCG”

แนวคิด BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ การพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐ ที่ต้องการต่อยอดจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางด้านการเกษตรที่ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมการลงทุนใน BCG แบบครบวงจรตั้งแต่เกษตรต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช หรือสัตว์ การปลูกไม้เศรษฐกิจ การคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษาผลิตผลเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร การผลิต เชื้อเพลิงจากผลิตผลทางการเกษตร การผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ 

ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2564 จะสนับสนุนการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศด้วย BCG ดังนี้

1.การขยายขอบข่ายการสนับสนุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากครอบคลุมการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกข้าวแบบปล่อยมีเทนต่ำ โดยขยายเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการเศรษฐกิจฐานราก 1 ปี เป็นสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.2565

2.เพิ่มขอบข่ายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการย่อยด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมกรณีเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สัดส่วน 50% ของเงินลงทุน

3.การปรับปรุงประเภทกิจการ สิทธิและประโยชน์ 2 กิจการ คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี กรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน โดยรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และกิจการห้องเย็นหรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็นในกรณีใช้สารทำความเย็นธรรมชาติจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

4.เปิดให้ส่งเสริมการลงทุนกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน โดยรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา BOI ปรับปรุงประเภทกิจการตามแนวคิด BCG ต่อเนื่อง โดยปี 2563 เพิ่มประเภทกิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งเป็นโรงปลูกพืชที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ครบถ้วนและแม่นยำ ซึ่งส่งผลให้ได้ผลผลิตคุณภาพและปลอดภัย โดยเป็นธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออก 

รวมทั้งปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์กิจการเดิมในกลุ่ม BCG ให้สอดคล้องสถานการณ์ เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ กิจการห้องเย็นหรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็นกำหนดให้ใช้สารทำความเย็นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ BOI กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับเพื่อก้าวเข้าสู่ New Economy ผ่านการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี นวัตกรรม และสร้าง Eco system ที่รองรับการสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยทั้ง Go Green และ Go Digital เป็นทิศทางที่พาประเทศไทยก้าวเข้าไปสู่ New Economy

ทั้งนี้ มีความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในสาขาที่มีศักยภาพสูงและอยู่ในเทรนด์ใหม่ของโลก โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลาง BCG ที่ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมแต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้ประเทศไทย Go Green เพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรอาหาร ศูนย์กลางด้านพลังงานหมุนเวียน ศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง และศูนย์กลางธุรกิจการดูแลสุขภาพ

"Go Green เป็นประเด็นที่ทุกประเทศมีทิศทางการพัฒนาไปทางนี้ โดยเดินตามแนวทาง Environmental, Social, and Corporate Governance หรือ ESG"

ขณะนี้ BOI กำลังจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะนำมาใช้แทนยุทธศาสตร์ 8 ปี (2558-2565) เพื่อนำมาใช้แทนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2566-2570) ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566-2570)