ประกันภัยจับตา ’โอมิครอน’ ส่อเจ๊งเพิ่ม

ธุรกิจประกันภัยอ่วม​ ​ยอดเคลมโควิดพุ่ง 4 หมื่นล้าน หลายบริษัทยกธงขาวร้องรัฐช่วย ร่วมพูดคุยกับ อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย อานนท์ วังวสุ ระบุ โควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นความเสี่ยงต่อระบบธุรกิจประกันภัยเพิ่มเติมต่อจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งสมาคมฯมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่  เข้าซ้ำเติมสถานการณ์ธุรกิจประกันภัยตอนนี้ที่ยังมีความเสี่ยงเชิงระบบอยู่  

ปัจจุบันบริษัทประกันโควิด 19 บางแห่งมียอดเคลมสูงกว่าเงินกองทุน เป็นประเด็นที่น่ากังวลว่า หากมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น บริษัทจะเงินจ่ายเคลมสินไหมได้มากน้อยแค่ไหนและเงินกองทุนจะมีเพียงพอหรือไม่  ซึ่งบริษัทประกันโควิด 19 ต้องประเมินความเสี่ยงยอดเคลมสินไหมโควิด 19ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าเผื่อไว้ด้วย แต่ทุกบริษัทยืนยันที่จะดูแลประชาชนที่ทำประกันไว้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ สมาคมฯยังรอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ชัดเจนจากสาธารณสุขก่อนว่าจะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อ เจ็บป่วยและเสียชีวิตรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่  เพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในระยะข้างหน้า เพราะหากขาดสภาพคล่อง เพิ่มทุนไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายสินไหม

ส่วนสถิติ ณ วันที่ 15 พ.ย.  2564 ค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัย โควิด 19 มีจํานวนกว่า 37,000 ล้านบาท ในขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 132,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันรวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทําให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท

“อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจํานวนมากและอาจเพิ่มสูงถึง 60%-70% ของเงินกองทุนหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ซึ่งจะทําให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดําเนินธุรกิจต่อไปได้”