บางจากฯ จ่อคุยแบงก์ชาติ หลังไม่สนับสนุนนำคริปโทเคอร์เรนซี ชำระสินค้า

บางจากฯ จ่อคุยแบงก์ชาติ หลังไม่สนับสนุนนำคริปโทเคอร์เรนซี ชำระสินค้า

บางจากฯ เล็งหารือแบงก์ชาติกรณีไม่สนับสนุนนำคริปโทเคอร์เรนซีมาชำระสินค้าหลังบางจากฯ ถือเป็นผู้นำกลุ่มพลังงานรายแรก ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถชำระสินค้าด้วยคริปโทเคอร์เรนซีที่ร้านกาแฟอินทนิล

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากที่ ธปท.ประกาศไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจาก บางจากฯ ได้ร่วมมือกับ บริษัท บิทาซซ่า จำกัด ถือเป็นนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ชั้นนำของไทย (www.bitazza.com) เพื่อให้ลูกค้าบางจากฯ ได้ใช้งานจริงของคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม บางจากฯ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานรายแรกที่เปิดบริการรับชำระด้วยคริปโทเคอร์เรนซี หวังเพิ่มความสะดวกสบายและเป็นทางเลือกและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ตอบโจทย์ความต้องการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคดิจิทัล (Digital Experience) ในยุคปัจจุบัน และบิทาซซ่ายังมีโซลูชั่นในการแปลงคริปโทเคอร์เรนซีให้เป็นเงินบาททันที ซึ่งสะดวกต่อทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าที่ไม่ต้องรับความผันผวนของมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี

ทั้งนี้ บางจากฯ ได้เริ่มเปิดรับชำระด้วยคริปโทเคอร์เรนซีที่ร้านกาแฟอินทนิลแล้วตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 จำนวน 21 สาขาและมีแผนที่จะเพิ่มอีก 100 สาขา ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจะขยายไปทั่วประเทศภายในไตรมาส 2 รวมทั้งมีแผนจะขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ ของบางจากฯ เช่น ธุรกิจคาร์แคร์ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยใช้กลยุทธ์สำหรับลูกค้าอินทนิลจะได้รับส่วนลด 10 บาททุกเมนูเมื่อชำระด้วยคริปโทเคอร์เรนซี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 - 31 มกราคม 2565

สำหรับเหตุผลที่ ธปท.ไม่สนับสนุนให้ใช้คริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจาก ธปท.เห็นว่า ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้ง ยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และมีความเสี่ยงในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจจะรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงินที่จะส่งผลต่อร้านค้า หรือผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหายในอนาคต

นอกจากนี้ หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศได้จำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์