‘โค้ชหนุ่ม’ จักรพงษ์ เมษพันธุ์ โลกเปลี่ยนไป การเงินแบบไหนที่เราต้องรู้

‘โค้ชหนุ่ม’ จักรพงษ์ เมษพันธุ์  โลกเปลี่ยนไป การเงินแบบไหนที่เราต้องรู้

เช็คหลักคิดด้านการเงินให้เหมาะกับโลกยุคใหม่ กับ เดอะมันนี่โค้ช กูรูด้านการเงินที่แปรเปลี่ยนเรื่องเข้าใจยากอย่างเรื่อง "การเงิน" ให้ง่ายขึ้น

“ความอดทน” เป็นหัวใจของความมั่งคั่งแบบที่เราเคยได้ยินมา เมื่อคุณทำงานหนัก เก็บออม บั้นปลายชีวิตจะตอบแทนคุณด้วยความมั่นคง เป็นความเบิกบานหอมหวานในยามเกษียณ หลังต้องทนอดเปรี้ยวตลอดชีวิตส่วนใหญ่

หลักการที่ว่านี้ไม่ได้ผิด และพล็อตเรื่องของการสร้างความมั่งคั่งในชีวิตก็น่าจะสรุปได้เพียงเท่านี้ ถ้าไม่ใช่โลกปัจจุบันกลับมีบริบททางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ อาชีพที่เคยผลิตรายได้ทุกเดือนกลับไม่แน่นอน เศรษฐกิจโลกส่งตรงถึงเศรษฐกิจไทยแบบวันต่อวัน ไม่นับโควิด-19 ที่ทำให้ภาพฝันของใครต้องเลือนลางลง

เราเรียกการจัดการความมั่งคั่งท่ามกลางความไม่แน่นอนแบบง่ายๆ ว่า “ความรู้ทางการเงินที่ทันสมัย” และองค์ความรู้ที่ว่านี้ มี "เดอะมันนี่โค้ช"- จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เป็นหนึ่งในติวเตอร์แนะนำแนวทางให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง

เขาเป็นคนเดียวกับเจ้าของเพจ Money Coach ซึ่งเริ่มให้ความรู้ทางการเงินมากกว่า 10 ปี เป็นเจ้าของคำตอบจากคำถามด้านการเงินกับผู้คนในทุกระดับ ทั้งยังเป็นคนเดียวกับเจ้าของโชว์ มันนีโค้ช ออน สเตท ที่จัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

  • ความรู้ด้านการเงินกับคนไทย

“คนไทยรู้เรื่องการเงินดีขนาดไหน ดัชนีวัดง่ายๆ เรื่องหนึ่งคือเรามีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% สองคือ เรื่องเงินฝาก อย่างที่ผ่านมามีเรื่องการคุ้มครองเงินฝากเปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1 ล้าน แต่กฎระเบียบที่ออกมานี้ กระทบคนแค่ 2% ของประเทศ ซึ่งเป็นอีกตัวชี้วัดว่าคนไทยยังมีปัญหาการเงินอยู่มาก เพราะไม่มีเงินเก็บ การจะพิจารณาว่ามีเงินหรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่วันเงินเดือนออก แต่ให้ดูในสภาวะปกติ และคนที่มีเงินเก็บเกิน 5,000 บาท มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ และทั้งหมดเป็นดัชนีที่บอกว่าคนไทยยังจัดการเงินมีปัญหา”

โค้ชหนุ่ม มองว่า ในช่วงโควิด-19 ยิ่งเห็นชัด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องให้คนออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน บางคนรายได้ลด 10-15% ก็ประสบภาวะลำบาก นั่นเพราะรายจ่ายแต่ละเดือนสูสีกับรายรับ มีหนี้ปริ่มรายรับ พอรายได้ลดลงก็อยู่ได้ยาก บางคนถึงกับมีสโลแกนว่า “เงินเดือนเอาไว้ใช้หนี้ โอทีเอาไว้รับประทาน”

ส่วนหนึ่งในปัญหาที่พบกันบ่อยๆนี้ เกิดจากการไม่มีความรู้ทางการเงิน ทั้งๆ ที่ความรู้การเงินเป็น ‘ทักษะชีวิต’ แต่เราไม่ได้สอนกันแต่เด็ก เช่น การเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนใช้เวลาประมาณ 16 ปี แต่ความรู้ด้านการจัดการเงินจะถูกพูดถึงเมื่อมีรายได้จริงๆ ทั้งที่สามารถสอนกันได้ตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้ ใช้จ่าย การออม การลงทุน

วิชาการเงินจึงควรมีสอนและสร้างทักษะกันตั้งแต่เนิ่นๆ และแต่ละชั้นก็ควรจะมีรูปแบบยากง่ายต่างกัน เช่น ช่วงเด็กเล็กเน้นที่การเก็บ การรักษา โตมาหน่อยโฟกัสที่การใช้จ่าย แล้วค่อยสอนเรื่องการหารายได้ การลงทุน เป็นการสร้างแนวคิดและสัญชาติญาณเรื่องการบริหารเงิน (Money Sense) เพื่อคิดถึงการมีกิน มีเหลือสำหรับอนาคตอยู่เสมอ

“เราอาจเริ่มตั้งแต่สอนให้รู้คุณค่าของเงิน สอนเรื่องการออม จะออมมากออมน้อย ไม่ว่า แต่ให้กำลังใจเขา มีใช้ มีเหลือ แต่เป็นการสอน Money Sense ให้คิดถึงการมีเหลือเผื่ออนาคตเสมอ พอมัธยม อยากให้สอนเลย เรื่องการหารายได้ และลงทุน เช่น สอนเรื่องการลงทุนง่ายๆ อาจไปสลากออมทรัพย์ หรือใช้บัญชีคุณพ่อคุณแม่กองทุนรวมบ้าง การลงทุนก็คือการหารายได้อย่างหนึ่ง มันเป็นการสอนให้เขารู้จักรับผิดชอบตัวเอง จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความซับซ้อน หนักเบาตามอายุ ช่วงวัย”

  • หารายได้ ใช้จ่าย ออม ลงทุน 

โค้ชหนุ่ม สรุปการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลว่า หลักคือมีพื้นฐาน 4 อย่าง คือ หารายได้ การใช้จ่าย การออม และการลงทุน โดยที่เบื้องต้นเราควรมีการสำรองเงินพื้นฐานคือ สำรองไว้พอใช้จ่ายไปอีก 6 เดือน เช่น หากคุณใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท ก็ต้องมีเงินสำรองอย่างน้อย 120,000 บาท

พอมีเงินสำรองใช้ไม่ขาดมือ ค่อยยกสเต็ปเป็นการลงทุน และการลงทุนที่ว่านี้แหละ ที่เป็นศาสตร์ซึ่งคนไม่เข้าใจมากที่สุด เพราะคิดว่าเอาเงินไปวางที่ไหนสักที่ แต่เอาเข้าจริงทุกวันนี้การลงทุนมีความสลับซับซ้อนขึ้น

“คนรุ่นก่อนเน้นการออมแบบบัญชีเงินฝาก ซื้อที่ดิน ฝากประจำ อาจมีแตะกองทุนบ้าง อย่างกองทุนลดหย่อนภาษี แต่ในยุคใหม่ เด็กไปการลงทุนต่างๆ เร็วกว่าเยอะ เพราะเครื่องมือเยอะ พ่อแม่ โรงเรียนไม่ได้สอน ก็ดูจากอินเทอร์เน็ตได้ เขาลงทุนไม่ใช่แค่หุ้น แต่ไปหุ้นต่างประเทศ Forex คริปโต ไปเยอะมาก การลงทุนไม่ใช่เพียงที่พักเงิน แต่ต้องมองผลตอบแทน ส่วนจะกี่เปอร์เซ็นต์แล้วแต่บุคคล”

“ส่วนการเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณรูปแบบของคนไม่เหมือนกัน บางคนยังอยู่ในเมือง ค่าใช้จ่ายก็แบบหนึ่ง อยู่ต่างจังหวัด ค่าใช้จ่ายก็แบบหนึ่ง แต่หลักการก็คือ ต้องไม่มีหนี้ในวันที่เราเกษียณ ไม่มีภาระหนี้ คือดีที่สุด อยากวางแผนเกษียณ หนึ่ง พออายุย่างเข้าเลข 5 คุณต้องวางแผนเอาหนี้ออกจากชีวิตให้จบก่อนจะเกษียณ สอง ถ้าเป็นไปได้ มีช่องทางสร้างรายได้ต่อ แนะนำว่าให้ทำเถอะ เพราะเป็นตัวช่วยให้เรามีรายได้ต่อ และทำให้ไม่เหงา ไม่ถึงกับเป็นแหล่งรายได้ใหญ่โต แต่ทำให้ไม่เฉา”

"การมีอะไรทำ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ตัวเลขปัจจุบันคือ 4 ล้านน่าจะพอ วางแผนการใช้จ่ายรายเดือนหน่อย เอาเงินส่วนหนึ่งไปวางไว้ในกองทุนบ้าง และต้องวางแผนการดูแลสุขภาพด้วย อย่างประกันสังคม หรือบัตรทอง สิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 ล้านน่าจะพอ แต่ถ้าอยากดูแลมากกว่านี้ เช่นประกันสุขภาพ ต้องมีมากกว่านั้น เพราะประกัน 60 – 70 ประมาณ 5-6 หมื่อนบาทต่อปี แต่หลังจากนั้นจะได้เห็นตัวเลขหลักแสนต่อปี" เดอะมันนี่โค้ช อธิบาย

  • หนี้สิน จัดการได้ถ้าเข้าใจปัญหา

ปัญหาการเงินที่ใครๆก็ปวดหัวที่สุด หนีไม่พ้นเรื่อง "หนี้สิน" และประเด็นนี้ โค้ชหนุ่ม มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมานาน

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยคนได้รับโอกาสไม่เท่ากัน โอกาสทางการศึกษา ครอบครัวก็สนับสนุนได้ไม่เท่ากัน อีกปัญหาคือโครงสร้างรายได้ ฐานเงินเดือนผ่านไป 20 ปี ไม่ปรับขึ้นเท่าไร ขณะที่ค่าครองชีพขึ้น 20% มันควรเป็นโครงสร้างที่ต้องปรับ ไม่งั้นไปไหนไม่ได้ ถ้าขึ้นรายได้ไม่ได้ ก็ต้องควบคุมเรื่องค่าครองชีพ”

แต่ถึงเช่นนั้นไม่ใช่ว่าเราจะแก้ปัญหาหนี้สินไม่ได้ เริ่มที่ถ้าเรามีความรู้การเงิน คนก็จัดการการเงินตัวเองได้ ปัญหาหนี้สินจึงมีทางออกทั้งในมุมของความรู้ทางการเงินและโครงสร้าง”

“คนไม่มีเงิน ติดปัญหาทางการเงิน กลุ่มนี้ก็จะติดกับความคิดว่า เขาไม่สามารถผ่านไปได้ และไม่เข้าถึงโอกาสต่างๆ เราก็ต้องให้กำลังใจ ไม่ใช่แค่แนะนำวิธีการ ความรู้ เพราะการทำให้คนคนหนึ่งที่หมดแรงไปแล้ว กลับมาสู้ไม่ง่าย ส่วนโอกาสในการลงทุน ก็ยอมรับว่าน้อยจริง แต่ไม่ใช้ทำไม่ได้ เพราะไม่มีขั้นต่ำ เราก็แนะนำว่า เงินได้มาก็อาจไม่ต้องเอาไปใช้หนี้ทั้งหมด แบ่งเล็กๆ น้อยๆ มาลงทุน ก็แก้ปัญหาไปพร้อมกับพัฒนาก็ได้ คนเราอย่ามองแต่อดีต เราต้องมองอนาคตด้วย”

“สำหรับผม เรื่องที่น่ากลัวพอๆกับการมีหนี้สินคือการที่เรามีอายุยืนขึ้น แต่ไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ในช่วงเวลานั้น การที่เราทำงานมา 40 ปี เพื่อเลี้ยงตัวเองในบั้นปลายอีก 20 ปี ก็เหนื่อยอยู่แล้ว ในอนาคตพูดถึงการอยู่ถึง 100 ปี เงินที่จะใช้หลังเกษียณก็ต้องเพิ่มขึ้นอีก

"หรือการเกษียณต้องขยายเวลาไปถึง 70  การใช้ชีวิตและสินทรัพย์รูปแบบใหม่ก็จะเกิดขึ้นมากมาย แล้วก็จะเกิดคน 2 กลุ่ม คือคนที่ตามคลื่นได้ทัน สามารถหาผลตอบแทนต่างๆ ได้เต็มที่ และถ้าไม่มีการให้การศึกษาด้านการเงิน ก็จะเกิดกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะไม่สามารถตามได้ทัน ตามไม่ทัน ก็แย่อยู่แล้ว แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคือมีคนเอาเปรียบ เวลาที่คนมีความรู้ต่างกันมากๆ ก็จะเกิดคนที่ใช้ประโยชน์จากมัน หาประโยชน์จากคนอื่น ทำร้ายคนอื่น”

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องรู้เรื่อง "การเงิน" ที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันที่เปลี่ยนไป

เนื้อหาจากรายการ The Next กรุงเทพธุรกิจ รับชมวีดีโอฉบับเต็มได้ ที่นี่