“อาคม”ชี้การลงทุนภาครัฐ 1 ล้านล้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี65

“อาคม”ชี้การลงทุนภาครัฐ 1 ล้านล้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี65

“อาคม”ชี้การลงทุนภาครัฐ 1 ล้านล้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เชื่อจีดีพีโตได้ถึง 4.5% ผ่านการเดินหน้านโยบายคู่ขนานเน้นสร้างงานสร้างอาชีพ ลั่นลดเม็ดเงินเยียวยา จับตาโอไมครอนกระทบภาพรวม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ เหลียวหลังแลหน้ามองเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวไทยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะสามารถขยายตัวได้ระหว่าง 3.5-4.5% โดยที่การใช้จ่ายภาครัฐผ่านเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท จากส่วนราชการประมาณ 6 แสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท และเม็ดเงินที่เหลือจากพ.ร.ก.กู้เงินอีกราว 3 แสนล้านบาท จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

“นโยบายด้านการคลังยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า ฉะนั้น ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะเป็นผู้ใช้จ่ายเม็ดเงินเข้าไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ โดยจะดำเนินการผ่านทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ เม็ดเงินที่จะใช้ในการเยียวยาประชาชน และธุรกิจอาจจะลดลง เนื่องจาก เศรษฐกิจและภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว การจ้างงาน และรายได้ของประชาชนก็จะกลับมา”

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 มีหลายปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ อาทิ

1.การปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในการประชุมกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนหรือ COP 26 ได้เห็นพ้องที่จะลดโลกร้อนลง 1.5 องศา ในปีหน้า และ ลดการใช้ก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ ทำให้เราต้องดำเนินนโยบายในการดูแลสภาวะภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภาคการขนส่งนั้น รัฐบาลจะมีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในต้นปีหน้า

“เราจะมีมาตรการทางภาษีมาช่วย เพื่อไม่ให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าแพงมาก โดยเราจะให้มีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาป ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในต้นปีหน้า”

2.เรื่องสังคมดิจิทัล ซึ่งในปีหน้าจะเห็นความเข้มข้นมากขึ้นจากการให้บริการผ่านแอพลิเคชั่นของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมถึง การใช้ดิจิทัล อินฟาสตรัคเจอร์ในตลาดทุน การใช้คริปโทเคอร์เรนซี  ดิจิทัลเอสเซน และฟินเทคในรูปแบบต่างๆ

3.การดำเนินนโยบายที่จะให้มีการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ซึ่งปีหน้านั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้จะต้องกลับมา เพราะรัฐบาลเริ่มปลดล็อกเรื่องการเดินทาง ขณะที่ กำลังการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เริ่มกลับมาเดินหน้า100%

“ฉะนั้น ในปีหน้า เราจะเห็นการดำเนินนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจที่คู่ขนานไปกับการดูแลโควิด-19 เพราะเราจะรอให้โควิดเป็นศูนย์คงไม่ทัน เพราะประชาชน และภาคธุรกิจได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องดูแล”

ทั้งนี้ ในภาคการท่องเที่ยวนั้น เราจะสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้น และรวมถึง การค้าระหว่างชายแดนที่จะต้องกลับมาคึกคัก เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ดังนั้น การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งจะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างจีน ลาว และ ไทย

4.จะเห็นการผลักดันแผนพัฒนาตลาดทุนที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ซึ่งการระดมทุนต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งตลาดทุนและตราสารหนี้นั้น จะให้น้ำหนักในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เขายังกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วยว่า น่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับ 1% โดยที่การส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 17% ซึ่งการเติบโตในระดับดังกล่าวนั้น  หมายความว่าเราสามารถบริหารให้เศรษฐกิจผ่านพ้นจากวิกฤติโควิด-19 ได้ภายใน 1 ปี โดยมีเพียงปีเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบคือ ปี 2563 ขณะที่ วิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ใช้เวลามากกว่า 2 ปี

สำหรับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอนนั้น หลายประเทศกำลังจับตา ซึ่งในส่วนของไทยนั้น ตลาดหุ้นไทยก็ได้ปรับลดลงตอบรับกับข่าวดังกล่าวเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลกแล้ว ถือเป็นภาวะตกใจ เนื่องจาก ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของความรุนแรงของเชื้อ ต้องได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก แต่เรื่องการแพร่ระบาดนั้นเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ขณะเดียวกัน วัคซีนที่มีอยู่จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ และการรักษาจะปลอดภัยหรือไม่ ฉะนั้น เรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นั้น ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์