สภาพัฒน์ถอดบทเรียนเกาหลีใต้ แนะไทยต่อยอด Soft Power เพิ่มมูลค่าศก.

สภาพัฒน์ถอดบทเรียนเกาหลีใต้ แนะไทยต่อยอด Soft Power เพิ่มมูลค่าศก.

“สภาพัฒน์”แนะไทยเร่งต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม (soft power) หลังไทยได้รับการจัดอันดับเป็นชาติอันดับ 5 ที่ทรงอิทธิพลทางด้านมรดกทางวัฒนธรรมของโลก แนะอำนวยความสะดวกการถ่ายภาพยนตร์ให้ต่างชาติมาถ่ายทำในไทย พร้อมยกตัวอย่างเกาหลีใต้สร้าง soft power อย่างเป็นระบบ

มิวสิควีดีโอเพลง "lalisa" ของศิลปินชื่อดัง "ลลิษา มโนบาล" หรือ "ลิซ่า แบล็คพิงก์" ที่โด่งดังและได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก ซึ่งนอกจากชื่อเสียงที่ได้รับความนิยมของลิซ่าแล้ว ยังเป็นการใช้วัฒนธรรม ความเป็นไทยมาผสมผสานในเนื้อหาของมิวสิควีดีโอ ช่วยสร้างเอกลักษณ์และความโดดเด่น ช่วยกระตุกความคิดของคนในหลายแวดวงรวมทั้งในรัฐบาล ที่จะต่อนำเอาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยไปสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องหาทางสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางทุนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงส่งเสริมให้เยาวชนในประเทศให้เดินตามเส้นทางของลิซ่าเพื่อก้าวสู่การเป็นศิลปินระดับโลกเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต 

ที่จริงแล้วนอกจากลิซ่าที่ช่วยโปรโมทเอกลักษณ์ - วัฒนธรรมไทย การเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีรากฐานที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมถือเป็น “Soft Power”ที่มีความสำคัญที่จะต่อยอดสร้างสรรค์เศรษฐกิจได้ เช่นเดิยวกับที่หลายประเทศประสบความสำเร็จจากการใช้ Soft Power เป็นจุดขายมาแล้ว 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้จัดทำรายงานพิเศษ เรื่อง “มรดกทางวัฒนธรรม โอกาสของ Soft Power กับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย” โดยระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้รับการจัดอันดับจาก CEO World magazine ในปี 2564 ให้เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ทรงอิทธิพลทางด้านมรดกวัฒนธรรมของโลก

โดยการผลักดันการใช้ Soft Power ที่ประเทศไทยมีให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สามารถทำควบคู่ไปกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศมีการใช้แล้วประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะใน

เกาหลีใต้ เป็นประเทศมีการนำเอา Soft Power ไปขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวข้องทั้งด้านวัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดคือ 

1.ด้านวัฒนธรรม เกาหลีใต้มีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจน และต่อเนื่องในการผลักดันวัฒนธรรมไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยโดยใช้ นโยบายที่เรียกว่า คลื่นเกาหลี (Korea Wave) หรือ ฮัลยู (Hallyu) แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ

  • หลังปี 2540 หรือ ฮัลยู 1.0 ซึ่งใช้ละครเกาหลีใต้ในการขับเคลื่อน
  • ระยะต่อมา หรือเรียกว่า ฮัลยู 2.0 เกาหลี มีนโยบายส่งเสริม K-pop มากขึ้น
  • ฮัลยู 3.0 เน้นการส่งเสริมด้านอาหาร เครื่องแต่งกาย และมีวิสัยทัศน์เศษฐกิจสร้งสรรค์ ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดการแสดงของศิลปิน และการเผยแพร่หนังชีรีส์
  • ฮัลยู 4.0 เป็นการหลอมรวม Korea style โดยน้นการสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมให้แผ่ขยายไปทั่วโลก

2.ด้านค่านิยม ใช้นโยบายการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำให้เกาหลีใต้มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาคมโลก

3.นโยบายด้านการต่างประเทศ มีนโยบายเพิ่มบทบาทของตนในเวทีโลกในปี 2551 ภายใต้ยุทธศาสตร์ Global Korea ที่มีเป้าหมายคือ การสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี นอกจากนี้ในด้านประชาสัมพันธ์ประเทศ มีการส่งสริมการเรียนภาษาเกาหใต้โดยจัดตั้งสถาบัน King Sejong ใน 51 ประเทศ ทำหน้าที่สอนภาษาและส่งเสริมวัฒนธรรมให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งจัดแสดงศิลปะและการแลกเปลี่ยนเยาวชน โครงการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาต่างชาติ 

เกาหลีใต้ยังมีการดำเนินงานที่เอื้อต่อการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศได้แก่ 

1.การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการดำเนินนโยบายซึ่งมีความครอบคลุมประกอบด้วย 5 หน่วยงานคือ

  • กระทรวงต่างประเทศ
  • กระทรวงวัฒนธรรม
  • กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงาน
  • กระทรวงศึกษาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท

โดยแต่ละกระทรวงจะรับผิดชอบในบทบาทที่แตกต่างแต่มีความสอดคล้องกัน เช่น

กระทรวงต่างประเทศซึ่งเป็น หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนให้เกิด Soft Power โดยนำวัฒนธรรมและสินค้าทางวัฒนธรรมไปเผยแพร่ และ สร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับต่างประเทศ ขณะที่

กระทรวงวัฒนธรรมจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม การผลิตเชิงวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์ เกมส์ เพลง แฟชั่น รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ขณะที่

กระทรวงการค้า กระทรวงศึกษา และกระทรวงเกษตร จะเน้นขับเคลื่อน ฮัลยู ผ่านกลไกต่าง ๆ ทั้งการส่งออก การให้ทุนการศึกษา และการผลิตอาหาร เป็นต้น 

2.การมีนโยบายและการสนับสนุนที่หลากหลายตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เริ่มตันไปจนถึงการขับเคลื่อนด้วย Soft Power เช่น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตละครและภาพยนตร์ หรือในช่วงฮัล 1.0 รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายการสนับสนุนตั้งแต่การจัดหานักแสดง ที่สนับสนุนโดย สถาบัน Korean Culture and Content Agency ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว

ขณะที่ด้านเงินทุนมีการจัดตั้งสถาบัน "Korean Film Council" เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ผลิต รวมทั้งยังช่วยผลักดันและ ส่งเสริมการส่งออกภาพยนตร์เกาหลีใต้ไปยังตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลก 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้กำหนดนโยบายสำหรับอุตสาหกรรมทางคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี (Hallyu Culture Industry) โดยส่งเสริมให้สอดแทรกสินค้าอื่น ๆ คู่ขนานกับการผลักดันวัฒนธรรม อาทิ เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง อาหาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้ธุรกิจในเชิงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ (Content Industry) เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีการส่งออกเนื้อหาทางวัฒนธรรมถึง 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากปี 2557 และเกิดกระแสความนิยมเกาหลีที่ส่งผลต่อกิจกรรมอื่น เช่น การท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น อย่างมากจากจำนวน 5.3 ล้านคนในปี 2543 เป็น 17.5 ล้านคนในปี 2563

 

สำหรับประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์โดยการนำวัฒนธรรมมาต่อยอด เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ

โดยสามารถนำแนวคิดการสร้าง Soft Power มาประยุกต์เพื่อให้เกิดกระแส ความนิยมในสินค้าและบริการ ดังนี้

1.การตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายที่ใกล้เคียงกับ Soft Power คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy เป็นแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของ การใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม ตลอดจนการสั่งสมความรู้ของสังคมและเทคโนโลยีนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นการนำวัฒนธรรมมามีส่วนร่วมในสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของSoft Power และจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ และยอมรับในสินค้า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน

2.กำหนดหน่วยงาน และการขับเคลื่อน การดำเนินงานเกี่ยวกับ Soft Power ของประเทศไทย ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งเป็นองค์การมหาชน แต่การดำเนินอย่างแยกส่วน ขณะเดียวกันยังขาดการเชื่อมโยงกับภาคเอกชนในฐานะผู้ผลิต เช่น  ภาพยนตร์ที่สอดแทรกสินค้า หรือวัฒนธรรมให้เกิดการรับรู้ในต่างประเทศ

3.การส่งเสริม และสนับสนุน ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นที่นิยมและถูกเลือกเป็นกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเมื่อปี 2563 มีจำนวนมากถึง 123 เรื่อง และสำหรับช่วงไตรมาสแรก ของปี 2564 มีจำนวน 31 เรื่อง เนื่องจากประเทศไทยได้มีการส่งเสริมกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ ให้เดินทางเข้ามาในไทยด้วยมาตรการช่วยสนับสนุนที่เป็นการคืนเงินจากการใช้จ่ายระหว่างถ่ายทำในประเทศไทย

 รวมถึงให้เพิ่มเติมกรณีที่มีการใช้นักแสดงชาวไทย อุปกรณ์ของไทย หรือแม้กระทั่งหากเนื้อหาภาพยนตร์ มีส่วนในการส่งเสริมภาพลัษณ์ของประเทศไทยก็จะได้รับ เงินคืนของเพิ่มเติมเท่านั้น รวมถึงไทยมีการจัดงานแสดง สินค้าในต่างประเทศ การมีทูตวัฒนธรรม แต่ยังไม่มีการใช้ บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกทำหน้าที่ในการเผยแพร่ วัฒนธรรมของประเทศ 

อีกทั้งยังขาดการส่งเสริมหรือสนับสนุนตลอดห่วงโซ่ หากมีการบูรณาการการทำงาน ร่วมกับระหว่างหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน และสอดแทรกวัฒนธรรมไว้ในสินค้าและบริการ ต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้เอกชนนำเสนอวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ในละคร หรือภาพยนตร์ และการสนับสนุมให้ดารา นักแสดง หรือนักกีฬา และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกให้มีบทบาทเสมือนทูตวัฒนธรรม จะเป็นการส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรม และสินค้าเชิงวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง