สศช.จับตาเงินเฟ้อพุ่งกดดันเศรษฐกิจ ชี้มาตรการการเงินต้องหนุนฟื้นตัว
สศช.รับเงินเฟ้อพุ่งสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นรอบหลายปีรับผลจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น แนะนโยบายการเงินต้องสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นว่าขณะนี้ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยก็ต้องจับตาดูสถานการณ์นี้เช่นกันเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ปรับเพิ่มสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบหลายปี อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราวจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากสถานการณ์โควิด-19
“ตอนนี้ทุกประเทศก็จับตาเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แต่ตอนนี้เฟดยังส่งสัญญาณว่าไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ต้องจับตาดูเพราะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนความร้อนแรงของเศรษฐกิจหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อก็ต้องดูสถาการณ์ให้เหมาะสมเพราะหากปรับขึ้นเร็วเกินไปก็จะกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวได้”
ทั้งนี้ประเด็นของเงินเฟ้อถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ สศช.ได้เสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 ที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2565 ได้ เนื่องจากความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วอาจจะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินและภาวะการเงินที่ตึงตัว
โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานในตลาดโลก ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการปรับสูงขึ้นของอัตราค่าจ้างเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน หากแรงกดดันเรื่องของเงินเฟ้อมีแนวโน้มยืดเยื้ออาจสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางในประเทศสำคัญๆ ลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเร็วขึ้นและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อสภาวะการตรึงตัวทางการเงินและส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้สินสกุลต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
สศช.ยังได้จัดทำรายงานเรื่องแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยในปี2564 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นชัดเจนนำโดยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักเนื่องจากกผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การกระจายวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัว และทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ควบคู่ไปกับปัญหาในภาคการขนส่งโลจิสติกส์ ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเพิ่มขึ้นสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation)พบว่าในส่วนของราคาที่อยู่อาศัยและราคารถยนต์มือสองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ถาวร (Permanent Inflationary Pressure)ดังนั้นธนาคารกลางของประเทศสำคัญ ๆ มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินกลับสู่ปกติ (Policy Normalization)เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพบว่าเป็นการฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงและแตกต่างกันในแต่ละประเทศ (Uneven recovery) เปรียบเทียบระดับเครื่องขี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในไตรมาสที่3ปี2562ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาด และไตรมาสที่3ของปี2564จะเห็นได้ว่าหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วมีการผลิตภาคอุตสาหกรรม และมูลค่าการค้าปลีกพื้นตัวมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤต
ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่บางประเทศการฟื้นตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด ทั้งนี้หากธนาคารประเทศกลางมีการปรับทิศนโยบายการเงินเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก็จะอาจนำไปสู่ภาวะการเงินตึงตัว ความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง รวมไปถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจได้