ควบรวม “TRUE-DTAC” กระทบ "ผู้บริโภค" อย่างไร?

ควบรวม “TRUE-DTAC” กระทบ "ผู้บริโภค" อย่างไร?

สภาองค์กรของผู้บริโภค เผย ควบรวม "TRUE" และ "DTAC" กระทบผู้บริโภค ทางเลือกน้อยลง หวั่นส่งผลด้านราคา การแข่งขันในตลาดลดลง เตรียมยื่นข้อเสนอ กสทช. ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า พิจารณาการควบรวมกิจการ ป้องกันเกิดอำนาจเหนือตลาด

หลังจากที่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ซึ่ง ทรู นับเป็นค่ายเครือข่ายมือถืออันดับ 2 ของไทย มีผู้ใช้บริการกว่า 32 ล้านเลขหมาย ขณะที่ ดีแทค มีผู้ใช้บริการกว่า 19.3 ล้านเลขหมาย หากสองบริษัทรวมกัน ทำให้มีผู้ใช้งานทั้งสองบริษัท 51.3 ล้านเลขหมาย ใหญ่กว่าเจ้าใหญ่ซึ่งมี 43.7 ล้านเลขหมาย เกิดคำถามว่า การควบรวมดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้บริโภคที่ใช้อย่างไร  

 

วันนี้ (23 พ.ย. 64) สภาองค์กรของผู้บริโภค แถลง กรณี ซีพี - เทเลนอร์ ควบรวมกระทบผู้บริโภค!ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค โดย ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศไทย มีค่ายมือถืออยู่ 3 ค่ายหลัก มีการแข่งขันกันอยู่ในประเทศ ทั้งด้านพัฒนาการบริการใหม่ๆ หรือการขยายพื้นที่ให้บริการ รวมถึงการแข่งขันด้านราคา จะเห็นว่าการแข่งขันต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่หากมีการควบรวมกัน แม้จะในระดับผู้ถือหุ้น อาจจะทำให้สัดส่วนการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไปหรือลดลง จากที่มี 3 ค่าย ก็จะมีแค่ 2 ค่ายเท่านั้น ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากอย่างแน่นอน 

 

“นอกจากประเด็นที่พูดถึงการแข่งขันด้านต่างๆ ของค่ายมือถือแล้ว เรายังเห็นว่า ประเด็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ที่เป็นปัญหา คือ ข้อมูลส่วนบุคคล จะเห็นว่าประชาชน และผู้บริโภคถูกหลอกมากมายจากการที่ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หากมีการควบรวมกันจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างมากแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่นำเอาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต”   
 

พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวเสริมว่า แม้ปัจจุบัน การควบรวมจะอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น ยังไม่มีการควบรวมบริษัทในระดับเชิงพื้นที่ แต่ผลกระทบดังกล่าวหากเกิดการควบรวมจริง จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชัดเจน เพราะเราพบว่าการรวมแบบนี้จะรวมบริษัทเดียวคือ บริษัทแม่ ทำให้การแข่งขันน้อยมาก ผู้บริโภคเองไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ และหาก 1 ใน 2 ของบริษัทที่มีอยู่ กำหนดค่าบริการที่สูงขึ้น หรือแม้กระทั่งให้บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแน่นอน 

 

ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะสิทธิของผู้บริโภค มีสิทธิในการเลือกใช้สินค้าและบริการ ดังนั้น บริการต้องมีความหลากหลาย อยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางออกในเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภค เร่งดำเนินการ และอยากให้ผู้บริโภคทั้งประเทศรู้ถึงผลกระทบที่เกิด

 

  • ทางเลือกผู้บริโภคควรจะมีมากขึ้น 

 

ด้าน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เผยถึงจุดยืนว่า ไม่ได้ขัดขวางการเจริญเติบโต หรือการร่วมทุนของธุรกิจใดๆ แต่ในฐานะผู้บริโภค มองว่าการควบรวมจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่ เพราะแต่เดิมเรามี 3 ทางเลือก แต่ตอนนี้ ควบรวมไปเราถูกตัดทางเลือกออกไปเหลือเพียง 2 ทาง จะเป็นทางสองแพร่งหรือไม่ จะมีหลักประกันอะไรว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะไม่ลิดรอนทางเลือกผู้บริโภค ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ความจริงแล้วภาคธุรกิจเติบโตเราก็ยินดีด้วยและพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ทางเลือกผู้บริโภคก็ควรจะมีมากขึ้นไม่ใช่ลดน้อยถอยลงแบบที่เป็นในตอนนี้

 “สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ควรจะมีทางเลือกมากขึ้น ประเทศไทยเรามีการแข่งขันการค้าอย่างเสรี หมายความว่ามีทั้งเจ้าเล็กและเจ้าใหญ่ ใครจะเลือกอย่างไหนก็ว่ากันไป แต่หากการแข่งขันนั้นไม่มีทางเลือกเลย ผู้บริโภคเลือกใครไม่ได้ เหมือนบังคับให้เลือก นี่เป็นความกังวลของผู้บริโภคคือ ด้านทางเลือก การมีทางเลือกน้อยเราจะถูกเอาเปรียบมากขึ้นหรือไม่ การควบรวมทำให้ธุรกิจมั่นคงขึ้น เป็นเรื่องที่สนับสนุน แต่ควรจะเพิ่มทางเลือกให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ลิดรอนทางเลือกสิทธิของผู้บริโภค”  

 

ตอนนี้เรามี 3 เจ้า หากไม่ชอบใจเราก็ย้ายไปเจ้าที่ 1 2 3 ได้ แต่ขณะนี้ พอควบรวมกันแล้ว ทำให้ทางเลือกเหลือเพียง 50% ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ผู้บริโภคมีความเสียหาย แน่นอนจากการควบรวมในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทแม่ที่ควบรวมกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราน่าจะเห็นการควบรวมของบริษัทลูกแน่นอน

 

  • ควบรวม ลดการแข่งขันในตลาด

 

 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวเสริมว่า จุดยืนของสภาองค์กรของผู้บริโภคชัดเจนว่าเราไม่เห็นด้วยกับการควบรวมในครั้งนี้ เพราะถือว่าทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง เรามี 3 ค่าย แต่พอควบรวมกันทางเลือกน้อยลง สุดท้ายก็อาจจะแบ่งตลาดกันเล่น ไม่มีการแข่งขันกัน ไม่มีแรงจูงใจทำให้เกิดการแข่งขันกัน ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน คิดว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง การแข่งขัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม โดยเฉพาะ กสทช. ต้องออกมาให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้ชัดเจน ว่ากรณีนี้ทำอะไรได้บ้าง และเมื่อเขาควบรวมกันแล้วสัดส่วนกว่า 52% ถือว่ามีอำนาจในตลาดหรือไม่ ต้องออกมาตอบคำถามกับประชาชน 

 

  • ควรทำให้เกิดการแข่งขัน

 
ทั้งนี้ เมื่อเราถูกจำกัดทางเลือกเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลไม่ควรให้เกิดขึ้น หลายท่านอาจจะพูดว่า ในต่างประเทศมี 3-4 ค่ายขึ้นไปทั้งนั้น ไม่มีใครที่มี 3 ค่าย และทำให้เหลือ 2 ค่าย ข้อเรียกร้องนอกจากจะไม่เปิดโอกาสให้มีการควบรวมแล้ว ควรจะทำให้เกิดเจ้าใหม่มากขึ้น และกสทช. ต้องสนับสนุนในเรื่องนี้ให้มีเจ้าใหม่มากขึ้น ให้มีการแข่งขันหรืออาจจะให้ผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคม เปิดโอกาสให้ใช้คลื่นตัวเองในราคาพิเศษ เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น 


วันนี้ทุกคนเห็นชัดเจนว่าการแข่งขันมีความสำคัญต่อผู้บริโภค และการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อทุน ในวันนี้สิ่งที่ทรูและดีแทค สามารถใช้เงื่อนไขประกาศของ กสทช. ในการร่วมมือเป็นพันธมิตรกันได้โดยที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน  ยกตัวอย่าง ประกาศของ กสทช. มีประเด็นเรื่องของการให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน ซึ่งการใช้โครงข่ายร่วมกันจะทำให้ลดต้นทุน แต่เราไม่เห็นการทำความร่วมมือในลักษณะนี้ แต่เป็นการควบรวม เราจึงไม่สนับสนุนให้เกิดการควบรวมเพื่อตัดโอกาส ตัดสิทธิของผู้บริโภค ไม่ต้องการเห็นการตัดทางเลือกผู้บริโภค หากรวมกันแล้ว 52% มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ หน่วยงานกำกับดูแลต้องออกมาตอบคำถามกับประชาชน 

 

  • ส่งข้อเสนอ 3 หน่วยงาน 

 

สารี กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เราเป็นกังวลนอกเหนือจากผู้บริโภคถูกตัดสินทางเลือกจาก 3 เหลือ 2 ก็ชัดเจนว่าเราก็แทบจะไม่มีทางให้เลือก มองไปทางไหนก็กลัวว่าจะแบ่งกันเล่น ซึ่งต้องมาทำการศึกษาต่อว่า กรณีนี้จะส่งผลต่อเรื่องราคาของผู้บริโภคหรือไม่ เมื่อไม่มีการแข่งขัน หรือส่งผลต่อคุณภาพบริการหรือไม่ บางคนอาจจะมองว่าเรื่องราคาอาจจะไม่ส่งผล แต่แน่นอนว่า เขาอาจจะมีบริการที่ทำให้คุณต้องจ่ายแพงขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกังวล 

 

 สิ่งที่ได้ยินวานนี้ทำให้กังวลว่า ขณะนี้ไม่มีหน่วยงานที่จะกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมหรือ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่ กสทช. มองว่าทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเป็นตัวแทนของผู้บริโภคด้านนี้ เบื้องต้น ทางสภาจะทำข้อเสนอไปทาง กสทช. เร่งทำข้อเสนอว่าควรจะสั่งห้ามการควบรวมกิจการ ที่ทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดในครั้งนี้ และทำข้อเสนอถึงตลาดหลักทรัพย์ ที่จะดำเนินการข้อเสนอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค 


แน่นอนว่า โครงสร้างโทรคมนาคม ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพราะจะรับเงินสวัสดิการจากรัฐ ก็รับผ่านมือถือ จะเป็นผู้มีรายได้น้อยรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ โครงการต่างๆ ก็มีการใช้เครื่องมือ กิจการโทรคมนาคมทั้งนั้น ซึ่งใช้สมาร์ทโฟน เรื่องนี้จึงสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้การแข่งขันมีมากขึ้น

 

รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หากการควบรวมครั้งนี้มีผลต่อการแข่งขันการค้า อย่างน้อย 3 หน่วยงานควรจะได้เห็นข้อเสนอทางนโยบาย และตอบข้อมูลให้กับสาธารณะได้รับทราบ พร้อมกับเตรียมที่จะทำแผนประชุมต่อไป ทางสภาฯวางแผนให้หน่วยงานเหล่านี้ ตอบคำถามกับผู้บริโภคว่าจะดำเนินการอะไร ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร และจะเร่งทำโดยเร็วที่สุด และคิดว่าหากประเทศนี้ไม่มีใครกำกับดูแลเลย สภาฯ ก็คงต้องทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะรัฐมนตรี เบื้องต้นอยากให้หน่วยงานทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง 

 

จากข้อคำถามที่ว่า การควบรวมในครั้งนี้จะส่งผลเสียต่อ เอไอเอส อย่างไร และคนที่ใช้ดีแทค และทรูทำอะไรได้บ้าง สารี กล่าวว่า ขณะนี้ ทั้ง 3 บริษัท โดยสิทธิผู้บริโภค เรามีสิทธิอยู่แล้วในการย้ายไปค่ายไหนก็ได้ แค่ในอนาคตจาก 3 เหลือ 2 ก็มีทางเลือกลดลง ขณะที่เอไอเอสก็มีคู่แข่งลดลง แต่คู่แข่งอาจจะใหญ่มากกว่า แต่กระทบผู้บริโภคแน่นอนเพราะเรามีโอกาสเลือกน้อยลง

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์