ผ่ากลยุทธ์โต “3 ยูนิคอร์นไทย” ปลุกโอกาส “ฟินเทค-โลจิสติกส์”

ผ่ากลยุทธ์โต “3 ยูนิคอร์นไทย” ปลุกโอกาส “ฟินเทค-โลจิสติกส์”

ผ่ากลยุทธ์โต ‘3 ยูนิคอร์นไทย’ ปลุกโอกาส ‘สตาร์ทอัพ บิ๊กคอร์ป เทคคอมพานี‘ จับตา ‘โลจิสติกส์ ฟินเทค’ กระแสร้อน ‘แอสเซนด์ มันนี่’ ดันบริการฟินเทคคลุมอาเซียน “บิทคับ” จ่อผุดโมเดลธุรกิจใหม่ไตรมาส 1 ปี 65 “แฟลช กรุ๊ป” ดันโลจิสติกส์เจาะ 10 ประเทศเออีซี หวังขึ้นท็อป 3 อาเซียนใน 5 ปี

ประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกขณะนี้ นับว่าโดดเด่นไม่เป็นรองใคร การเกิดของ 3 ยูนิคอร์น ปลุกหลายโอกาสให้ไทยเดินไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล “แฟลช เอ็กซ์เพรส” “แอสเซนด์ มันนี่” และ “บิทคับ” เป็น 3 ยูนิคอร์นที่ครอบครองธุรกิจที่เป็นเทรนด์ในโลกใหม่ และกำลังขยายอาณาจักรจากไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ นับเป็นยุคทองของ สตาร์ทอัพ หากจับเทรนด์ของโลกได้ถูก  

รายงานล่าสุดของ CB Insights ระบุว่า การลงทุนในระดับ Global Venture Funding ทำให้เกิดจำนวนยูนิคอร์นใหม่เพิ่มขึ้น 127 บริษัท จากทั้งหมด 848 บริษัท เป็นยูนิคอร์นจากเอเชีย 30 บริษัท ทำให้เห็นเงินทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น 95% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,200 ล้านดอลลาร์ และมีส่วนแบ่งจากตลาดเงินทุนโลกเติบโตจาก 26% ในไตรมาส 2 เป็น 32% ในไตรมาส 3 ของปีนี้
 

นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งจากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพการทำธุรกิจรอบด้านของภาคเอกชน

ปัจจุบัน มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยมีสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของจีดีพีและคาดว่า จะเติบโตมากกว่า 25% ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า (อ้างอิงจาก บีโอไอ) สอดคล้องแนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าทะยานถึง 300,000 ล้านดอลลาร์หรือเติบโตเกือบ 3 เท่าภายในปี 2568 สถานภาพของไทยจึงโดดเด่นในฐานะประเทศหลักของกลุ่มอาเซียน

ขณะที่ แนวโน้มนี้ ยังกระตุ้นบริษัทผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมต่างๆ เร่งพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างบริการรองรับความต้องการ และจัดการเส้นทางประสบการณ์ (Digital Journey) ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น
 

“มุมหนึ่งก็หมายถึงโอกาสของสตาร์ทอัพ และบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ธุรกิจที่จะได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งในแง่การร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อก้าวกระโดดเป็นยูนิคอร์น เพื่อตอบรับการเติบโตดังกล่าว”

“ฟินเทค-คริปโตฯ”กระแสร้อนโลกใหม่ 

นางสาวมนสินี กล่าวด้วยว่า กระแสดิจิทัล สตาร์ทอัพ ในอุตสาหกรรมการเงินช่วง 5 ปี ที่ผ่านมามีมาเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือ วิกฤติโควิด-19 ได้สร้างโอกาสครั้งใหญ่ให้กับ เทค คอมพานี โดยเฉพาะวงการฟินเทค เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้จ่ายไปสู่รูปแบบแคชเลสมากขึ้น ดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะเอ็ม-คอมเมิร์ซ (Mobile Commerce) เติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

ทั้งเรื่องนโยบาย และโครงการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านแคชเลส แพลตฟอร์มการใช้งานวงกว้าง เข้าถึงคนหลากหลายกลุ่ม มีส่วนช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลใหม่ๆ น่าจับตาว่าจะเพิ่มโอกาสทางการเงินใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในวันนี้และอนาคต

ที่ผ่านมาสัญญาณฟินเทคคือ ฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมีความชัดเจนขึ้น การแข่งขันจะเป็นไปอย่างเข้มข้นแน่นอนจากทั้งผู้เล่นสถาบันการเงิน รวมทั้งผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่ตบเท้าเพิ่มเข้ามาในตลาดจากกลุ่มเทคฟิน (TechFin) ขณะที่ เทคโนโลยีอย่าง บล็อกเชน หรือบิ๊กดาต้า จะมีบทบาทสำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการเงิน เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของทั้งระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปจากวันวานอย่างชัดเจน

“สำหรับแอสเซนด์ มันนี่ เราต้องการเป็น Financial Platform of Opportunities โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน มีเป้าหมายขยายธุรกิจคือ การเพิ่มฐานผู้ใช้แอพพลิเคชั่นทรูมันนี่ วอลเล็ท ทั้งระบบในประเทศไทยและตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคจากปัจจุบัน 20 ล้าน เป็น 35 ล้าน ภายในปี 2566"

สถานะยูนิคอร์นของสตาร์ทอัพในไทย จึงไม่ใช่แค่เม็ดเงินที่ได้รับจากผู้ลงทุน แต่เป็นสัญญาณตัวชี้วัดที่แสดงถึงศักยภาพของธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็ว กล้าคิด กล้าสร้างโอกาส และความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเปิดรับความร่วมมือต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงศักยภาพในการเติบโตในต่างประเทศด้วยช่วยสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมาสู่ประเทศ เพื่อก้าวไปสู่มิติของเศรษฐกิจดิจิทัล

“แฟลช”ดันอาณาจักรคลุมอาเซียน 

นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกที่ แฟลช เอ็กซ์เพรส เข้ามาทำตลาด จุดมุ่งหมายคือ ต้องการเข้ามาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้บริโภคคนไทยและ “เป็นมากกว่าผู้ให้บริการด้านขนส่ง” วันนี้ แฟลช เป็นผู้ให้บริการขนส่งแบบครบวงจรรายเดียว และรายแรกของไทยที่มีธุรกิจในเครือหลากหลายสามารถตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร

ทั้ง Flash Logistics ที่ให้บริการส่งสินค้าชิ้นใหญ่, Flash fulfillment การบริหารจัดการระบบขนส่งแบบครบวงจรรูปแบบ คลัง-แพ็ค-ส่ง, Flash money ,Flash Pay บริการด้านการเงิน และ Flash AI บริการด้านเทคโนโลยี 

รวมถึง “Flash HR ” ที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เป็นเทคโนโลยีบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งแฟลชมีแผนให้บริการกับองค์กรต่างๆ ในไทย คาดว่าจะเปิดตัวภายในสิ้นปีนี้  

“เรากำลังเดินตามแผนที่วางไว้ในการขยายธุรกิจไปสู่ AEC รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน"

อาจเพราะตลาดในประเทศกำลังเล็กไปสำหรับธุรกิจ “แฟลช” จึงกำลังเดินตามแผนเพื่อบุกสู่ตลาดอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยตั้งใจขยายบริการให้ครบภายใน 3 ปี และขยับขึ้นสู่ 1 ใน 3 ของผู้ให้บริการระดับอาเซียนภายใน 5 ปี ปัจจุบันแฟลช ก้าวเข้าสู่ประเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และลาว แล้ว ขณะเดียวกันยังมองไปถึงตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และแอฟริกาด้วย

อย่างไรก็ตาม นายคมสันต์ เชื่อว่า การร่วมทุน หรือการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจคือ การขยายโอกาสทางการค้า การสร้างมูลค่าทางการตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนในเรื่องแนวคิดการทำธุรกิจ การนำนวัตกรรมของแต่ละองค์กรเข้ามาเพิ่มศักยภาพ และความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีและหลากหลาย

บิทคับจ่อผุดโมเดลธุรกิจไตรมาส 1 ปี 65                                                                                          

นายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัดเปิดเผยว่า สำหรับแผนดำเนินงานหลังจากนี้ เพื่อไปสู่ระดับโลกยังไม่สามารถบอกได้ เพราะอยู่ระหว่างทำแผนกับ บล.ไทยพาณิชย์ก่อน และต้องรอทำดีลเสร็จ แต่ยืนยันว่า ไม่ทิ้งธุรกิจนี้แน่นอน ซึ่งนักลงทุนจะได้เห็นพัฒนาการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้านต่างๆ ผ่านโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ร่วมกับทาง บล.ไทยพาณิชย์ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ในเบื้องต้น บล.ไทยพาณิชย์ เข้ามาลงทุนในบิทคับออนไลน์ เท่านั้น

ตอนนี้ทาง บล.ไทยพาณิชย์ ยังคงให้ความเชื่อมั่นในฝั่งผู้บริหารของบิทคับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหาร และให้โอกาสผู้บริหารบิทคับเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจตามโรดแมพ และเป้าหมายเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมใน “บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” จะลดลงตามราวครึ่งหนึ่งตามสัดส่วนการเข้ามาซื้อหุ้นของ บล.ไทยพาณิชย์

โดยส่วนตัวถืออยู่สัดส่วน 5% จะลดลงมาอยู่ที่ 2.5% และในส่วนของนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารนั้นถืออยู่ราว 20%กว่า จะลดลงมาอยู่ที่ 10%กว่า ซึ่งเป็นการลดลงตามสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นของ บล.ไทยพาณิชย์

“ดีลนี้เราได้มีการพูดคุยกันมาในปีนี้มาระยะหนึ่งแล้ว การที่เราตัดสินใจเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในครั้งนี้ เนื่องจาก SCBX เป็นเพียงรายเดียวที่โดดลงมาทำเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นบริษัทคนไทย และมีเป้าหมายเดียวกันกับเรา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว และวางรากฐานในการเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตต่อไป”

สมาคมคริปโตฯ ชี้สินทรัพย์ดิจิทัลไทยโต

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ในฐานะนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า หลังจากดีล บล.ไทยพาณิชย์ ถือหุ้น บิทคับซึ่งเป็นดีลใหญ่ของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เชื่อว่าในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีการเปลี่ยนไป น่าจะเห็นนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ที่เป็นการผสมผสานระหว่างเทรดดิชั่นนอลไฟแนนซ์กับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

ทั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนที่อยากลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจากตอนนี้ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการลงทุนรูปแบบอื่นๆที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าไปผสมอยู่ในพอร์ตลงทุน เช่น กองทุน โดยผ่านคำแนะนำการลงทุนของโบรกเกอร์ ซึ่ง บล.ไทยพาณิชย์ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้อยู่แล้วซึ่งก่อนหน้านี้จะเห็นว่า หลายโบรกเกอร์ได้เข้ามาแล้วในรูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจ

ส่วนการออกไปแข่งขันในระดับโลก มองว่า สำหรับโลกสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยพัฒนาการเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้การออกไปแข่งขันในระดับโลกเป็นเรื่องที่ง่าย แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การกำกับดูแลมากกว่า ดังนั้นหากบิทคับทำได้ก็จะเป็นการสร้างานมาตรฐานให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

สำหรับหลังจากนี้ น่าจะยังเห็นอีกหลายดีลตามมาได้เพราะตอนนี้ยังมีธุรกิจฟินเทคทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล มีคุณภาพดีๆ อีกหลายแห่ง ที่มีโอกาสขยายธุรกิจ ทั้งการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ ระดมทุนหรือการควบรวมกิจการ (M&A) กับบริษัทต่างๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้ในอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์