"โครงสร้างราคาน้ำมัน" คำถามสังคม คนไทยแบกอะไรอยู่

"โครงสร้างราคาน้ำมัน"  คำถามสังคม คนไทยแบกอะไรอยู่

การบริหารจัดการ “ราคาน้ำมัน” ที่หน้าปั๊มสูงกว่าต้นทุนหน้าโรงงานเกือบเท่าตัว ซึ่งในราคาที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม การที่ “ผู้ใช้บริการน้ำมัน” หรือ สหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะ “น้ำมันดีเซล” จะมุ่งเป้าไปยัง กระทรวงพลังงาน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการแก้ปัญหาราคาน้ำมันจากการกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมาพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30บาทต่อลิตร ดูจะไม่ใช่ทางออกที่ตรงใจใครหลายคน เพราะเป้าราคาที่อยากได้น่าจะอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ ข้อเสนอเพื่อขอให้รัฐบาลลดภาษีน้ำมันก็ดูเหมือนจะไม่เข้าหูรัฐบาลซักเท่าไหร่ และได้รับการยืนยันจากกระทรวงพลังงานว่า การลดภาษีน้ำมันจะเป็นทางเลือกสุดท้าย และอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังโดยตรง ซึ่งเป็นผู้เก็บเงินภาษีน้ำมัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่

1. ราคาหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ

2. ภาษีสรรพสามิต ที่อัตราประมาณ 0.975-6.5 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งจัดเก็บบนหลักการด้านสิ่งแวดล้อม

3. ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น ที่ 10% ของภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นรายได้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าเกือบทุกประเภท

5. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บประมาณ -17.6143- 6.58 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ

6. ค่าการตลาด ซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

“องค์ประกอบราคาน้ำมันว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีการจัดเก็บภาษี และได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราที่แตกต่างกันตามโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน”

ผลจากโครงสร้างราคาต่อน้ำมันแต่ละชนิด โดยน้ำมันที่รถยนต์ส่วนใหญ่มีการใช้ ได้แก่ น้ำมันดีเซล มีราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วน 75-87% ของราคาขายปลีก ในส่วนของภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 6-16% ของราคาขายปลีกเท่านั้น ในส่วนค่าการตลาดคิดเป็นสัดส่วน 1 – 3% ของราคาขายปลีก และท้ายสุดภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ 7% ของมูลค่าสินค้า

สำหรับกลุ่มราคาน้ำมันเบนซิน มีราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วน 56-100% ของราคาขายปลีก ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 25-35% ของราคาขายปลีก ค่าการตลาดคิดเป็นสัดส่วน 2 – 18% ของราคาขายปลีก และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ 7% ของมูลค่าสินค้า

 

สำหรับกลุ่มราคา LPG ราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วน 157% ของราคาขายปลีก ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วน -81% ของราคาขายปลีก เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการอุดหนุนราคาดังกล่าวอยู่ LPG ค่าการตลาดอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 17 ของราคาขายปลีก และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ 7% ของมูลค่าสินค้า

เทียบราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของไทยและอาเซียน (25 ต.ค.2564)

-ไทย อยู่ที่ 29 บาทต่อลิตร 

-สิงคโปร์อยู่ที่ 53 บาทต่อลิตร 

-สปป. ลาวอยู่ที่ 31.50 บาทต่อลิตร 

-กัมพูชาอยู่ที่ 30.24 บาทต่อลิตร 

-ฟิลิปปินส์อยู่ 28.69 บาทต่อลิตร 

-เมียนมาร์อยู่ 26.95 บาทต่อลิตร 

-มาเลเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมัน) อยู่ที่ 17.42 บาทต่อลิตร

ในด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่10% ของมูลค่าสินค้าและบริการ แต่จัดเก็บจริงที่ 7% ของมูลค่าสินค้าและบริการ ทั้งนี้ เพื่อลดภาระแก่ประชาชน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วพบว่า ประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD จะพบว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่ม OECD สูงกว่าอัตราจัดเก็บจริงของประเทศไทยเกือบ 3 เท่า หรืออยู่ที่ 19.3%

นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้แจกแจงโครงสร้างราคาน้ำมันทุก 1 ลิตร ประกอบด้วย

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40 – 60% )คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย

2. ภาษีต่างๆ ( 30– 40%)ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ, ภาษีเทศบาล ที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

3. กองทุนต่างๆ (5– 20%) อาทิ 1. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน 2. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10– 18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยในปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันของไทยแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน และมีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งองค์ประกอบราคาน้ำมันเป็นเหมือนภาระที่ประชาชนต้องแบกรับ ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนดขึ้น แต่ท่ามกลางทางแยกแห่งความเห็นต่างการกำหนดราคาน้ำมันในขณะนี้ การบริหารจัดการราคาทั้งเพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และระยะยาวเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐต้องดำเนินการขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมคำตอบต่อคำถามสังคมที่มีต่อราคาน้ำมันที่เป็นภาระต้องแบกรับอยู่กันถ้วนหน้า

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์