"แผนฟื้นฟู" วัคซีนปลุกเศรษฐกิจ

"แผนฟื้นฟู" วัคซีนปลุกเศรษฐกิจ

การประชุม ครม. สัญจรที่ จ.กระบี่ครั้งล่าสุดนี้ เนื้อหาใจความหลักพุ่งเป้าไปที่แผนการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง รวมถึงแผนการอนุมัติกรอบวงเงินฟื้นฟูในด้านที่จำเป็น โดยตีกรอบวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ไว้ใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านต่างๆ

ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางมหาวิบาก ด้วยมหันตภัยโควิด เกาะกินประเทศมากว่า 2 ปี จากตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักหน่วย ทะยานไปสู่หลักร้อย จนพีคสุดเป็นหลักหมื่นคน เป็นเช่นนี้มายาวนาน

พร้อมความอลหม่านของการจัดซื้อจัดหา “วัคซีน” วันนี้ผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงในระดับ “ต่ำหมื่น” มาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือน เราเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการที่ผ่อนคลายลง หากความกังวลเรื่องการติดเชื้อเพิ่ม หรือความเสี่ยงจากคลัสเตอร์ใหม่ยังคงมีอยู่ 

แต่หากดูภาพรวมๆ เหมือนจะเริ่มคุมสถานการณ์ได้ แต่ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากอยู่ดีว่าประเทศพ้นขีดอันตรายแล้ว เพราะยังมีหลายช่องโหว่ที่ต้องอุดเอาไว้ ไม่ให้เป็นรูรั่วเกิดปัญหาได้ในอนาคต 

ไม่ว่าจะเป็นการเร่งให้ประเทศเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด เรื่องแรงงานข้ามชาติที่ต้องเร่งแก้ปัญหา การเตรียมพร้อมรับมือเชื้อกลายพันธุ์ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ระบบสาธารณสุขไทยต้องเอาให้อยู่หากไทยโชคร้ายซ้ำอีก

 

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกระบี่ เนื้อหาใจความหลัก จึงเริ่มพุ่งเป้าไปที่แผนการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง รวมถึงแผนการอนุมัติกรอบวงเงินฟื้นฟูในด้านที่จำเป็น

วันนี้เรามีวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ โควิด-19 พ.ศ. 2564 จำนวน 5 แสนล้านบาท มีเงินเหลือ 2.26 แสนล้านบาท สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ นี้ บอกว่า 

แนวทางจากนี้จะพิจารณาอนุมัติใช้เงินตามสถานการณ์ วงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท ยังคงไว้ใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านต่างๆ ส่วนเงินเยียวยาจะลดน้อยลงตามสถานการณ์ที่คลี่คลายขึ้น

วงเงินด้านสาธารณสุขการเยียวยาอาจปรับมาใช้ในแผนงานอื่นได้ในอนาคต หากจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อซื้อยารักษาเพิ่มเติมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงและผู้สูงอายุ

ถึงวันนี้แล้ว สปริงบอร์ดที่จะช่วยฟื้นฟูประเทศ ต้องไม่จำกัดอยู่แค่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่หมายรวมถึงฟันเฟืองทุกภาคส่วนที่ต้องมีส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ให้สามารถกลับมายืนอยู่รอดและเติบโตได้อีกครั้ง หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายหรือจนวันที่โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น 

 

แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลจากนี้ จำเป็นต้องปรับเลนส์ให้มีมุมมองที่ชัดเจนมากขึ้น มองให้ทะลุในหลายมิติ ต้องไม่ลืมเยียวยากลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างที่ควรจะเป็นในทุกกลุ่ม

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสถานบันเทิง กลุ่มรับจ้าง นักเรียนที่ต้องหลุดจากวงโคจรของการศึกษาเพราะพิษโควิด แรงงานหาเช้ากินค่ำที่ต้องตกงาน

วงเงินกู้ที่เหลืออยู่ของรัฐบาลรอบนี้ คือ “วัคซีนเข็มสำคัญ” ต้องใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รัฐบาลฝ่ายบริหารประเทศต้องหยุดภาวะความล้มเหลวของเศรษฐกิจให้ได้

ตอบโจทย์ความต้องการทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ฉีดวัคซีนแก้ปัญหาให้ตรงจุด พยุงประเทศให้ลุกขึ้นกลับเข้าสู่ “ลู่วิ่งทางเศรษฐกิจ” ได้อีกครั้งอย่างเข้มแข็ง ทำให้ไทยกลับมาเนื้อหอมในสายตานักลงทุน และกลับมายืนในเวทีโลกได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง