ส่องฮินเด้นแวลลู “หุ้นเจ้าสัวซีพี” หลังกำไรทรุดยกกลุ่ม

ส่องฮินเด้นแวลลู  “หุ้นเจ้าสัวซีพี”  หลังกำไรทรุดยกกลุ่ม

รีเฟคจากโควิดปี 2564 ในไทยพาเหรดออกมาให้เห็นในรูปแบบกำไรไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ตอกย้ำได้ดีว่ามีผลกระทบมากแค่ไหนเพราะแม้แต่ธุรกิจที่เป็นทุนใหญ่ คลอบคลุมตลาดในอันดับ 1 มีศักยภาพในการทำกำไรมากที่สุด“กลุ่มซีพี” ฉายาหุ้นเจ้าสัวใหญ่ของไทย กลายเป็นทรุดหนักแทบยกกลุ่ม

หุ้นใหญ่ที่ทำเอานักลงทุนสุดเซอร์ไพร์ผลประกอบการคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ประกาศผลขาดทุนหนัก 5,374 ล้านบาท ลดลง 28 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน  และยังลดลง 172 % จากไตรมาสก่อน  และทำให้ในรอบ 9 เดือน กำไรอยู่ที่ 6,308 ล้านบาท   ลดลงถึง  67.83 % ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกขาดทุนครั้งแรกในรอบ 14 ปี

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเกินกว่าคาดการณ์ไปมากของบรรดานักวิเคราะห์ เพราะมีการประเมินตัวกำไรในรอบนี้ราว 2,000 ล้านบาท  และมีอยู่เพียงแค่โบรกเดียวที่คาดการณ์ว่าจะเผชิญขาดทุนแต่ตัวเลขอยู่ที่ 500  ล้านบาท

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ CPF ประกอบธุรกิจอาหารที่จำเป็นต่อการบริโภคขาดทุนหนัก ตามการชี้แจงของบริษัทราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวลดลงประมาณ 20 %  สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น 5 %  เทียบจากระยะเวลาเดียวกันปีก่อน  และจากปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลให้มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพลดลง 3,583 ล้านบาท จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน  การรับรู้ส่วนแบ่งงกําไรจากเงินลงทุนลดลง 3,294 ล้านบาท จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนตามผลการดําเนินงานของบริษัทร่วมในประเทศจีน และผลการดําเนินงานของบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CPALL  ที่ลดลง   

สถานการณ์โควิดไทยและต่างประเทศมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ และทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปนั้น มาตรการที่ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคก็มีมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และด้วยมาตรการที่รัดกุมในบางครั้ง อาจมีผลกระทบต่อการใช้กำลังการผลิตในบางโรงงานไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่บริษัทตั้งใจไว้

 

ตามมาด้วยธุรกิจสื่อสารอันดับ 2 ของไทย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE  รายงานพลิกขาดทุน 602 ล้านบาท ลดลง  678 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยได้รับผลกระทบจาก 2 ธุรกิจคือ ทรูมูฟ เอช  ที่มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์โควิดที่มีผลต่อกำลังซื้อ 

นอกจากนี้ยังมีภาวะการแข่งขันตลาดเติมเงินที่ยังคงมีการแข่งขันที่สูงและแข่งขันกันดึงลูกค้าด้วยแพ็กเกจความเร็วคงที่แต่ปริมาณดาต้าไม่จำกัด (fixed-speed unlimited data) สำหรับกลุ่มราคาระดับล่าง  ด้านทรูวิชั่นเจอเจอ OTT และแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาชิงฐานคนดู  จนกระกระทบรายได้

สวนทางกับธุรกิจทรูออนไลน์หรือบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต กลับได้รับอานิสงค์ดีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นและมีฐานรายใหม่135,000 ราย เป็นลูกค้า 4.5 ล้านราย  หนุนรายได้ในส่วนนี้เติบโต 9.5 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนและ 2.2  %จากไตรมาสก่อน  และไตรมาสดังกล่าว  TRUE มีการบันทึกกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุน DIF ประมาณ 1.5 พันล้านบาท หากไม่รวมรายการนี้ผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้น  57 %  เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน

ด้านธุรกิจค้าปลีกทั้ง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO แม้จะไม่ทำเซอร์ไพรส์หนักให้นักลงทุนด้วยการพลิกขาดทุน เพราะยังมีกำไรแต่เติบโตลดลง โดย CPALL มีกำไร 1493 ล้านบาท ลดลง  623.64 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ MAKRO มีกำไร 1,571 ล้านบาท แทบจะไม่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

กลุ่มค้าปลีกถือว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าจากการเปิดประเทศ และคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กำลังซื้อกลับมา แต่ที่สำคัญคือการจัดโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกที่ให้ MAKRO เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน “เทสโก้โลตัส” แทน CPF และ CPALL   ผ่านการเพิ่มทุนในมูลค่าที่ลดลง แต่ได้กระแสเงินสดเข้าทั้ง 2 บริษัท  และเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นไปในตัวจนปรับตัวขึ้นมาแล้ว  12.45% และ 24.05 % ตามลำดับ

หากประเมินจากตัวเลขผลประกอบการคือว่าไตรมาส 3 กำไรในกลุ่มรับแรงกระแทกจากโควิดหนักที่สุด แต่หากดูในแง่ราคาหุ้นกลับพบว่า มีเพียง CPF ที่ราคาหุ้นทิศทางขาลง  เนื่องจากอิงกับต้นทุนคอมมูนิตี้ที่เป็นทิศทางขาขึ้น เช่น กากถั่วเหลือ  ข้าวโพด และยังมีปัจจัยต่างประเทศการกลับมาล็อกดาวน์ในจีนปัจจัยกดดัน

สวนทางกับอีก3 บริษัท โดยเฉพาะราคาหุ้น TRUE ที่บวกขึ้นมาแล้วจากต้นปีจนถึงปัจจุบันเกือบ 20 %  แม้จะพลิกกลับมาขาดทุนในไตรมาสดังกล่าว แต่กระแสข่าวการซุ่มเจรจาซื้อหุ้นโอเปอเรเตอร์เบอร์ 3 ในตลาดยังคุกรุ่นออกมาต่อเนื่องและเป็นตัวพลักดันทำให้ราคาหุ้นบวกด้วยเช่นเดียวกัน