โฆษณาต.ค. ติดลบ 6% แต่ 10 เดือน เงินยังสะพัดแตะแดนบวก 1%

โฆษณาต.ค. ติดลบ 6%  แต่ 10 เดือน เงินยังสะพัดแตะแดนบวก 1%

ส่องอุตสาหกรรมโฆษณา-สื่อ ยังต้องลุ้นเดือนต่อเดือน แบรนด์จะใช้จ่ายเงินสะพัด หนุนตลาด “โต” หรือ “ติดลบ” แม้นักการตลาด เอเยนซี แบรนด์ ขานรับนโยบายเปิดประเทศ สินค้าแห่ลุยแคมเปญโกยยอดขายทิ้งทวนปี 2564

นีลเส็น เปิดเผยภาพรวมเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่า 9,088 ล้านบาท หดตัว 6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสื่อทุกประเภทอยู่ใน Red Zone หรือ “ติดลบ” เกือบถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นทีวี มูลค่า 5,405 ล้านบาท ลดลง 5% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 739 ล้านบาท ลดลง 16% วิทยุ 284 ล้านบาท ลดลง 11% สื่อสิ่งพิมพ์ 242 ล้านบาท ลดลงมากสุดถึง 28% สื่อในโรงภาพยนตร์ 428 ล้านบาท ลดลง 5% สื่อในห้าง 59 ล้านบาท ลดลง 11%

ทว่า ภาพรวม 10 เดือน (ม.ค-ต.ค.) อุตสาหกรรมโฆษณามีเงินสะพัด 87,729 ล้านบาท ขยายตัว 1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยทีวียังโกยเม็ดเงินมากสุด 52,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 7,843 ล้านบาท ลดลง 11% วิทยุ 2,651 ล้านบาท ลดลง 11% สื่อสิ่งพิมพ์ 2,547 ล้านบาท ลดลง 18% สื่อในโรงภาพยนตร์ 2,267 ล้านบาท ลดลงมากสุดถึง 30% เนื่องจากโรงหนังถูกล็อกดาวน์กว่า 100 วัน สื่อในห้าง 545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ตโกยเม็ดเงิน 19,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 14,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%,กลุ่มสื่อและการตลาด(Media & Marketing) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรงมูลค่า 11,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 2,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล 3,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เป็นต้น

โฆษณาต.ค. ติดลบ 6%  แต่ 10 เดือน เงินยังสะพัดแตะแดนบวก 1%

ส่วนกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินลดลง ยังคงเป็นกลุ่มยานยนต์มูลค่า 4,786 ล้านบาทอลดลง 5% โทรคมนาคม การสื่อสาร 3,321 ล้านบาท ลดลง 13% การเงิน 2,920 ล้านบาท ลดลง 21% ค้าปลีกและร้านอาหาร 2,330 ล้านบาท ลดลง 14% ภาครัฐ 2,096 ล้านบาท ลดลง 22% ท่องเที่ยว 779 ล้านบาท ลดลง 65% อุตสาหกรรมบันเทิง 175 ล้านบาท ลดลง 55% เป็นต้น

ส่วนของบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในปี 2564 โดย 3 ลำดับแรก ยังเป็นยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด มูลค่า 3,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัท เนสท์เล่(ไทย) จำกัด มูลค่า 2,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล(ประเเทศไทย) จำกัด หรือพีแอนด์จีมูลค่า 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทั้ง 3 บริษัท ร้างสรรค์แคมเปญการตลาด และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผ่านสื่อทีวีมากสุด