“สุพัฒนพงษ์”มั่นใจบูมลงทุน “อีวี” ปี65 ลุ้นค่ายรถกางแผนลงทุนในไทย

“สุพัฒนพงษ์”มั่นใจบูมลงทุน “อีวี” ปี65 ลุ้นค่ายรถกางแผนลงทุนในไทย

การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยน โดยรัฐบาลเตรียมกำหนดมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งครอบคลุมมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตและมาตรการทางการเงินที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนธ.ค.2564

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อผลักดันประเทศไทย ให้ก้าวผ่านปัญหาต่างๆ และกลับสู่สถานการณ์ปกติในทุกด้าน อาทิ ด้านความมั่นคงทางการเงิน เสถียรภาพต่างๆ รวมทั้งตลาดทุน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน เป็นแนวนโยบายที่ประเทศไทย ต้องปรับพอร์ตทางเศรษฐกิจที่ยังให้น้ำหนักไม่เหมาะสม และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับแนวโน้มในอนาคตที่จะเป็นโอกาสของประเทศไทยประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 

1.ด้านการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทุกประเทศต้องให้ความสนใจ 

2.ด้าน Decentralization การแข่งขันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้นทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องกระจายฐานการผลิต เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ 

3.ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เป็นฐานในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสดี เนื่องจากเป็นฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม 

4.การท่องเที่ยวในช่วงโควิด-19 ประเทศไทยได้รับการยอมรับเรื่องการดูแลเรื่องสาธารณสุข และความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานสะอาด เช่น การประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2065-2070 และมีการจัดเตรียมพอร์ตให้มีสัดส่วนของพลังงานสะอาดมากขึ้น และเป็นพลังงานสะอาดที่มีต้นทุนไม่สูงเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน ที่ผ่านมาพลังจากแสงอาทิตย์มีต้นทุนที่ถูกลง และมีกระบวนการจัดเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2565 มาตรการที่รัฐบาลดำเนินการจะเห็นผลลัพธ์ เช่น EV ที่มาควบคู่กับพลังงานสะอาด สถานีประจุไฟฟ้า และตามด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างไฟฟ้า คาดว่าจะได้เห็นการประกาศการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ทั้งจากนักลงทุนเดิมในประเทศและนักลงทุนใหม่ รวมทั้งการลงทุนในพลังงานสะอาดอื่นๆ อันเป็นผลมาจากโครงสร้างดิจิทัลเชื่อมั่นในความร่วมมือ

ภาคเอกชนให้ความสนใจเกี่ยวกับรถไฟฟ้า EV มาก จึงมั่นใจว่าปี 2565 จะเห็นการประกาศลงทุนในไทย รวมถึงการลงทุนพลังงานสะอาดเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่ไทยตั้งเป้าหมายเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำให้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ได้ตามเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต EV ในไทย 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2573 ซึ่งการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีต้นทุนการผลิตต่ำลงจึงเป็นตัวผลักดันที่ดีช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลายสาขา”

ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผ่านมาผลิตเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงได้วางเป้าหมายการส่งเสริมการผลิต และการใช้รถEV โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในปี 2568 ที่ 1,055,000 คัน ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน รถบัส รถบรรทุก 31,000 คัน 

รวมทั้งปี 2578 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสม 18.41 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถปิกอัพ 8.62 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน รถบัส รถบรรทุก 458,000 คัน 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์