นับถอยหลัง ปตท.สผ. เคลียร์ทางรับสิทธิ์ "แหล่งเอราวัณ"

นับถอยหลัง ปตท.สผ. เคลียร์ทางรับสิทธิ์ "แหล่งเอราวัณ"

ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง สำหรับการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อติดตั้งแท่นฯ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ ตามสัญญาPSC หลังเจรจากลุ่มเชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานปัจจุบันหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ โดยเชฟรอนฯ จะหมดสัญญาสัมปทานวันที่ 23 เม.ย.2565 

ปัญหานี้ ส่งผลให้ผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐ ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต ไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ไม่ตามสัญญาPSC 
โดยข้อกำหนดในสัญญาPSC จะต้องผลิตก๊าซฯที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากเชฟรอนฯ ในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณยังไม่ยินยอมให้เข้าพื้นที่ แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำหน้าที่เจรจามาหลายต่อหลายครั้ง
ดังนั้น สิ่งที่ปตท.สผ.จะเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาคือ จัดหาปิโตรเลียมเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซฯ ที่ไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ในแหล่งเอราวัณ เพราะถึงแม้ว่าจะเจรจาได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่กระบวนการผลิต ติดตั้งอุปกรณ์อาจจะไม่ทันการณ์ 

เชฟรอนฯ หยุดลงทุน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ปตท.สผ.จะขอเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตในการผลิตก๊าซฯ ให้เป็นไปตามสัญญาPSC ในปี2565 อีกทั้ง เชฟรอนฯ ไม่ได้ลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ทำให้ปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณ จะหายไปราว 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญา PSC แหล่งเอราวัณต้องผลิตก๊าซฯได้ 800ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปตท.สผ.จะต้องใช้เวลาราว 1-2ปี จึงจะสามารถทำให้แหล่งเอราวัณกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  

ขีดเส้นเจรจาธ.ค.64

อย่างไรก็ตาม การเข้าพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ของปตท.สผ.ที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ แม้ว่ากระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พยายามเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางในการเจราร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาดำเนินการของกลุ่ม ปตท.สผ.เหลือน้อยลงเรื่อยๆ หากยังไม่มีความชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณของกลุ่มผู้รับสิทธิ์รายใหม่ที่จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา PSC
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้พยายามแก้ไขปัญหาและนัดเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบทบาทหน้าที่ของกระทรวงพลังงานได้พยายามอย่างสุดความสามารถและจะให้การเจรจาสำเร็จในช่วงเดือนธันวาคม2564 ถือว่าเป็นการสิ้นปีที่ต้องขีดเส้นตาย เพื่อให้ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่เตรียมพร้อมการผลิตก๊าซฯ ให้มีปริมาณเพียงพอตามสัญญาPSC ก่อนที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะหมดสัญญาในวันที่ 23 เมษายน2565 

สิ้นปีต้องเห็นภาพชัดเจน

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ในการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการแหล่งเอราวัณ ตามกำหนดจะต้องเข้าพื้นที่วันที่ 24 เม.ย.2564 ซึ่งก่อนสิ้นปีนี้ จะสรุปเป็นภาพที่ชัดเจน โดยขณะนี้ ปตท.สผ. ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผน แม้บริษัทจะยอมรับเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานปัจจุบันแล้วก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มปตท.สผ.ได้ประสานงานกับผู้ซื้อและหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะพยายามเร่งการลงทุนในแหล่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอ เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตที่หายไปบางส่วน 

เพิ่มกำลังผลิตจาก "บงกช-อาทิตย์"
“ระหว่างนี้จะเพิ่มกำลังผลิตจากแหล่งอื่นมาทดแทน อาทิ โครงการอาทิตย์ คาดว่าจะผลิตก๊าซฯได้เพิ่ม 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และอีก 2 ปีเพิ่มเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่แหล่งบงกช จากเดิมกำหนดไว้ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน” 
สำหรับสัญญาสัมปทานแหล่งบงกช ประกอบด้วยแปลงสำรวจหมายเลข B15 B16 และ B17 โดย แปลง B15 จะหมดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 โดยจะเข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง G2/61 ในวันที่ 24 เมษายน 2565 และ แปลง B16 และแปลง B17 จะหมดอายุในวันที่ 7 มีนาคม 2566 โดยจะเข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง G2/61 ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 
ส่วนสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณ จะหมดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 โดยจะเข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง G1/61 ในวันที่ 24 เมษายน 2565
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้เสนอราคาขายขณะที่แข่งประมูลอยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู แต่ราคานำเข้า LNG ก็ยังมีความผันผวนมาก
ต้องติดตามว่าการเจรจาเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณจะบรรจุเป้าหมายภายในปีนี้หรือไม่ ซึ่งหากปตท.สผ.เข้าพื้นที่ได้ การติดตั้งท่ออุปกรณ์ต่างๆ ต้องใช้เวลาเตรียมการอย่างน้อย 6 เดือน อีกทางหากผลเจรจาไม่สำเร็จ แผนสำรองเร่งผลิตก๊าซฯ ในแหล่งอื่นมาทดแทนเป็นไปตามเป้าที่วางไว้หรือไม่