CPF ชวนคู่ค้า SMEs สร้างแนวร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น

CPF ชวนคู่ค้า SMEs  สร้างแนวร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น

ซีพีเอฟ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพคู่ค้า SMEs 120บริษัท จัดการอบรม " CAC Training for CPFs SMEs Suppliers 2021 ถ่ายประสบการณ์ ป้องกันความเสี่ยงการทุจริตและคอร์รัปชั่น

นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา  รองกรรมการผู้จัดการด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)   หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า  ในฐานะที่ซีพีเอฟ เป็นองค์กรแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่น CAC Change Agent  ได้จัดอบรม " CAC Training for CPF's  SMEs Suppliers 2021 ผ่านระบบออนไลน์ ให้กับคู่ค้า SMEs จำนวน  120  บริษัท

ถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ เรื่องการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตและคอร์รัปชันในการดำเนินการ ส่งเสริมความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs  รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการประกาศเจตนารมณ์ และยกระดับการดำเนินเป็นองค์กรที่ได้รับรองเป็นแนวร่วมการต่อต้านคอร์รัปชั่นต่อไป

 

CAC Change Agent มีหน้าที่ขับเคลื่อนการ  สร้างเครือข่ายธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาล และมีความโปร่งใสไปยังบริษัทคู่ค้า รวมทั้งส่งเสริม คู่ค้า SMEs เข้าร่วมโครงการ CAC SME เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับห่วงโซ่อุปทานอาหาร” 

 ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาขีดศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคู่ค้าธุรกิจของซีพีเอฟ ภายใต้แนวคิด ร่วมคิด ร่วมสร้างสู่การเติบโตร่วมกัน เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SMEs มีระบบการทำงานที่โปร่งใส มีเครื่องมือในการต่อต้านและป้องกันการให้สินบน หรือคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กร ตลอดจนช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างมั่นคง  ต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ส่งออกร่วมกันในอนาคต     

โดยซีพีเอฟ มีแนวทางส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ CAC SME Certification เพื่อรับรองเป็นองค์กรแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย โดยซีพีเอฟ ช่วยจัดอบรมให้ความรู้ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินต่อไป และช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินธุรกิจกับซีพีเอฟและบริษัทรายอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับคู่ค้าที่ดำเนินงานมีธรรมาภิบาล และโปร่งใส โดยมีเป้าหมายที่สร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารที่ปราศจากคอร์รัปชัน

 

 

นายพนา รัตนบรรณางกูร ผู้อำนวยการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย  หรือ CAC สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวว่า ปัจจุบัน  ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environment  Social Governance) ยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ซีพีเอฟยึดถือมาโดยตลอด การจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดแนวทางให้แก่คู่ค้า SMEs ในห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟ มีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาและแนวทางการป้องกันความเสี่ยงและปัญหาคอร์รัปชันต่างๆ อย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจมีธรรมาภิบาล และโปร่งใส ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร

 

CAC  ในฐานะองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งโดยความร่วมมือกับกลุ่มและภาคเอกชนของไทย เพื่อสร้างแนวร่วมภาคธุรกิจ สร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องคอร์รัปชันให้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องตาม นโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติคู่ค้าธุรกิจของซีพีเอฟ ซึ่งคู่ค้าจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และกำหนดนโยบายและกลไกในการจัดการ การควบคุม และหาวิธีป้องกันการดำเนินธุรกิจปราศจากการคอร์รัปชัน

นายพนา  ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ SMEs ว่าหัวใจในการป้องกันความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่น จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง มีระบบควบคุมภายในเพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด มีการกำหนดนโยบายและข้อปฏิบัติให้พนักงาน และการอบรมทำความเข้าใจกับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง มีการสื่อสารให้กับคู่ค้าและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียได้เข้าใจและปฏิบัติตาม รวมทั้งมีระบบการแจ้งเตือน เพื่อให้บริษัทสามารถควบคุมและป้องกันการเกิดทุจริตได้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์