สศก. แนะปลูก 6 พืชที่มีอนาคตในภาคตะวันออก

สศก. แนะปลูก 6 พืชที่มีอนาคตในภาคตะวันออก

สศท.6 แนะสินค้า Future Crop 6 ชนิด ในภาคตะวันออก ปลูกเสริมหรือทดแทน ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในพื้นที่ ไม่เหมาะสม เกิดภัยพิบัติซ้ำซากโรคระบาดสะสม

นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) ของทั้ง 9 จังหวัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด สมุทรปราการ

สศท.6 ได้ศึกษาสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) พบว่า ไผ่ หญ้าเนเปียร์ โกโก้ มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงน้ำดอกไม้ และกุ้งก้ามกราม เป็น 6 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการผลิตข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซากและพื้นที่เกิดโรคระบาดสะสม

ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่ไม่เหมาะสม หากพิจารณาผลตอบแทนสุทธิจากการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ของข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง พบว่า

ข้าวนาปี ใน จังหวัด ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ตราด ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 1,643 บาทต่อไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 644 บาทต่อไร่ ข้าวนาปรัง ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ตราด ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 1,213 บาทต่อไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 687 บาทต่อไร่

ยางพารา ในพื้นที่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 3,515 บาทต่อไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 48 บาทต่อไร่ และมันสำปะหลังในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี และสระแก้ว ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 1,639 บาทต่อไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เกษตรกรขาดทุน 85 บาทต่อไร่

ซึ่งหากพิจารณาสินค้าเกษตรทางเลือกทั้ง 6 ชนิด ที่สามารถปลูกเสริมหรือทดแทนข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ของพื้นที่เป้าหมายทั้ง 9 จังหวัด สามารถจำแนกเป็นรายชนิด ดังนี้

สศก. แนะปลูก 6 พืชที่มีอนาคตในภาคตะวันออก

ไผ่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 11,212 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 7,921 บาทต่อไร่ สามารถปลูกทดแทนข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว ซึ่งพบว่าผลผลิตหน่อและกิ่งพันธุ์ไผ่มีเพียงพอกับปริมาณความต้องการ แต่ในส่วนของลำพื้นที่เป้าหมายทั้ง 7 จังหวัด สามารถผลิตได้เพียง 819,070 ลำ

ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวนมากถึง 6,776,000 ลำ ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 5,956,930 ลำ ควรส่งเสริมการปลูกไผ่เพื่อใช้ลำในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 11,914 ไร่

 

หญ้าเนเปียร์ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 25,929 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 4,687 บาทต่อไร่ สามารถปลูกทดแทนข้าว และมันสำปะหลัง พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดสระแก้วและรอยต่อในอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 2 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 477,523 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 1,468,563 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 991,040 ตัน ควรส่งเสริมการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 36,328 ไร่ เพื่อให้โคมีหญ้ากินครบทุกวัน

โกโก้ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,218 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 9,138 บาทต่อไร่ สามารถปลูกทดแทนยางพารา พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 3 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 2,141 ตัน และมีพื้นที่ปลูกแล้วยังไม่ให้ผลอีกจำนวน 1,290 ตัน

ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 22,158 – 27,158 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 20,868-25,868 ตัน ควรส่งเสริมการปลูกโกโก้ในพื้นที่เป้าหมายประมาณ 16,231-20,120 ไร่

 

มะพร้าวน้ำหอม เกษตรกรปลูกแบบสวนเดี่ยว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 11,236 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 23,228 บาทต่อไร่ หากปลูกแบบขอบบ่อหรือผสมนาข้าว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,403 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 11,689 บาทต่อไร่ สามารถปลูกเสริมหรือทดแทนข้าว พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง

ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 4 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 30,382 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 43,300 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 12,918 ตัน ควรส่งเสริมการปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 4,300 ไร่

 

มะม่วงน้ำดอกไม้ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 11,548 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 13,687 บาทต่อไร่ สามารถปลูกทดแทนข้าวและมันสำปะหลัง พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พื้นที่เป้าหมายทั้ง 5 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 70,000 ตัน ซึ่งปริมาณของผลผลิต มีความสมดุลกับความต้องการของตลาด

 

กุ้งก้ามกราม ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 36,705 บาทต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 8,417 บาทต่อไร่ สามารถเลี้ยงทดแทนการปลูกข้าว พื้นที่เป้าหมายในการผลิต ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครนายก และสมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 5 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 2,828 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 2,952-4,428 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 124-1,600 ตัน ควรส่งเสริมให้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่เป้าหมายประมาณ 714 - 9,217 ไร่

 

ผลการศึกษาดังกล่าว สศท.6 ได้นำเสนอในที่ประชุมทางไกล (Online Focus Group) เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนส่วนราชการ รวมทั้งผู้แทนเกษตรกร เพื่อนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนเห็นชอบในสินค้าทางเลือกระดับภาคที่นำเสนอทั้ง 6 ชนิด รวมทั้งมาตรการที่เสนอ ซึ่งข้อเสนอในที่ประชุมภาพรวม ให้พิจารณาเรื่องน้ำ พื้นที่ความเหมาะสม ตลาดนำการผลิตต้องมีแผนการรองรับและควรพิจารณาเรื่องพืชที่มีอยู่แล้ว และสร้างมูลค่า

 

ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ควรสนับสนุนองค์ความรู้ให้เกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น นอกจากพืชทางเลือก ทั้ง 6 ชนิดที่เสนอมาแล้วนั้น ควรศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของพืชสมุนไพร อินทผาลัม พริกไทย น้อยหน่า และไข่ไก่ รวมถึงสินค้า ที่มีโอกาสทางการตลาดเพื่อการผลิตที่ตอบโจทย์ในทุกพื้นที่ ประกอบกับควรศึกษาข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทน และเรื่องการตลาดอย่างรอบคอบ