ปตท.จับมือ Hozon รุก EV ทำตลาด Neta V รุ่นพวงมาลัยขวา

ปตท.จับมือ Hozon รุก EV ทำตลาด Neta V รุ่นพวงมาลัยขวา

ปตท.ลงนาม “โฮซอน” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีน ศึกษาพัฒนาธุรกิจครบวงจร “เช่า-ขาย” รถพวงมาลัยขวารุ่นแรกแบรนด์ Neta V หวังดันไทยศูนย์กลางรถอีวีพวงมาลัยขวา

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายจาง หย่ง ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โฮซอน ได้ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโอกาสทางธุรกิจและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ในรูปแบบเสมือนจริง

สำหรับ การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% สำหรับดำเนินธุรกิจในด้าน EV Value Chain และบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน โดยจะสร้างความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโอกาสทางธุรกิจ EV แบบครบวงจร อาทิ ให้บริการเช่า หรือจัดจำหน่าย EV พวงมาลัยขวารุ่นแรกของแบรนด์ Neta V ผลิตโดย Hozon 

รวมทั้งความร่วมมือบริการหลังการขายที่เกี่ยวข้องผ่าน EVme ดิจิทัลแพลตฟอร์มของ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายฐานการผลิต EV มายังประเทศไทย ผ่านบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตเต็มรูปแบบ

ก่อนหน้านี้ นายอรรถพล ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปตท.มองว่าในอนาคตจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา รองรับเพื่อการผลิตส่งออกไปทั่วโลกได้ เพราะในโลกมีประเทศที่ขับขี่ด้วยรถพวงมาลัยขวาน้อย ดังนั้นจึงมีผลทำให้ผลิตรถอีวีแบบพวงมาลัยขวาน้อยตามไปด้วย ซึ่งทำให้ ปตท.มองตลาดจุดนี้

นอกจากนี้การก้าวเข้ามาลงทุนในธุรกิจอีวีของกลุ่ม ปตท.เกิดจากจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานที่ ปตท.เริ่มเห็นว่าเกิดเทรนด์การใช้พลังงาน โดยการเอาไฟฟ้าขั้นสุดท้ายมาใช้ และเดินหน้าด้วยเทคโนโลยี สอดรับไปกับวิสัยทัศน์ของ ปตท.ที่ต้องการเดินหน้าธุรกิจ พัฒนา New S-Curve มุ่งเน้นการลงทุนในเทรนด์หลักของโลกคือ Go Green และ Go Electric

ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอีวี ถือเป็นบิสซิเนสโมเดลใหม่ ที่ในโลกยังไม่มีใครทำแบบนี้ ถ้าทำสำเร็จก็จะปังมาก ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะโตระดับโลก และเราอยากทำให้ได้ ซึ่งหลังจากนี้จะจับมือกับฟ็อกซ์คอนน์เดินสายโรดโชว์ค่ายรถยนต์ต่างๆ”นายอรรถพล กล่าว

รวมทั้ง ปตท.มี ความร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ในการจัดตั้งกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture โครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เริ่มขึ้นแล้วโดยในปี 2565 จะเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งโรงงาน และเริ่มการลงทุนในมูลค่า 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกถือว่าศักยภาพเพราะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย

สำหรับรูปแบบของธุรกิจที่ ปตท.และฟ็อกซ์คอนน์ ได้ร่วมกันวางไว้ จะเป็นการพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อซัพพอร์ตให้กับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจจะพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถนำชิ้นส่วนรถยนต์หรือมอเตอร์ที่โรงงานผลิต ไปประกอบรวมกับโครงร่างของรถยนต์ที่ออกแบบไว้ ก็สามารถผลิตออกมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทำการขายได้ โดยไม่ต้องลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์

“การทำงานของโรงงานนี้ เราจะดีไซน์ฐานรถยนต์ไฟฟ้าให้กับลูกค้า จัดเรียงแบตเตอรี่และระบบคอนโทรลรถให้กับลูกค้าและค่ายรถยนต์ต่างๆ หลังจากนั้นลูกค้าก็ดีไซน์โครงรถ บอดี้ตัวรถอยากให้เป็นแบบไหน ก็นำมาครอบกับระบบรถยนต์ที่เราผลิตให้แล้วประกอบรถออกมาจำหน่ายได้ ซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะผลิตป้อนให้กับค่ายรถใดค่ายรถหนึ่ง แต่ชิ้นส่วนที่ ปตท.จะผลิตจะป้อนได้ให้ผู้ผลิตได้ทุกราย” นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ โรงงานที่ทำการผลิตเครื่องยนต์ไฟฟ้าในลักษณะนี้จะมีเพียง 2 แห่งในโลกคือ โรงงานของทางฟ็อกซ์คอนน์ที่กำลังลงทุนอยู่ในประเทศสหรัฐ และอีกแห่งคือ ความร่วมมือที่กำลังจะก่อสร้างโรงงานในไทย ซึ่งโรงงานในสหรัฐจะผลิตรถอีวีออกมาจำหน่ายได้ก่อนโรงงานในไทย

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์