ท่องเที่ยวไทยเร่งทรานส์ฟอร์ม! ก้าวสู่ "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์"

ท่องเที่ยวไทยเร่งทรานส์ฟอร์ม! ก้าวสู่ "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์"

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก้าวพ้นจุดต่ำสุด กางโรดแมพ"อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์”ดึงเทคโนโลยี นวัตกรรม พลิกโฉมทุกมิติ เร่งเพิ่มขีดแข่งขันหนุนเจาะนักท่องเที่ยวคุณภาพ รายได้สูง พุ่งเป้า“อินเดีย”ขุมทรัพย์ 2 พันล้านคน ชดเชยตลาดจีนซึมยาว

ลุ้นปีหน้าทัวริสต์ฟื้น 50% ดันรายได้ 1.5 ล้านล้าน ด้านบิ๊กคอร์ป “โรงแรม-ภาคบริการ” ชี้อานิสงส์เปิดประเทศหนุนธุรกิจไต่ระดับขาขึ้น

ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับอานิสงส์จากนโยบาย เปิดประเทศ และสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งสัญญาณบวกต่อการเดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจ โดยวานนี้ (9 พ.ย.) สมาคมโรงแรมไทยและบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ได้จัดงาน FHTxTSF Webinar “ก้าวต่อไป : การท่องเที่ยวไทย 2022 และอนาคต” โดยมีภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมฉายภาพและเป้าหมายการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด  

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกในปัจจุบันดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ  ถือเป็นการเริ่มต้นกลับมาเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติหลายประเทศทั่วโลก สอดรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยเมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

"รัฐบาลได้ผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้ ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งจากการเริ่มต้นเปิดพื้นที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องรับนักท่องเที่ยว จนถึงการเปิดประเทศมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้  เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวได้ปรับตัว เปลี่ยนแปลง และฟื้นฟู กิจการ รวมถึงพัฒนาให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีความพร้อม และกลับมาเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง"

 

++ ลุยพลิกโฉมท่องเที่ยวปี 65

ในปี 2565 ภาคการท่องเที่ยวไทยมุ่งขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์” (Amazing Thailand New Chapter) หรือการนำเสนอภาพใหม่ของการท่องเที่ยวไทยที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวด้วยเรื่องราวภาพการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ผ่านการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทยเพื่อก้าวสู่วิถีใหม่ในทุกมิติ

โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีนโยบายเปิดประเทศเช่นเดียวกัน คือความร่วมมือของผู้ประกอบการทั้งในธุรกิจภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ นำนวัตกรรม และทุกเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในการให้บริการ ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการ และสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวยุควิถีปกติใหม่ (นิวนอร์มอล) นี้

รวมถึงกระแสแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว กระทรวงฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมการท่องเที่ยว ได้เดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และปลอดภัยขึ้น เหมือนภาพที่กระทรวงฯ จัดทำโครงการอาสาสมัครท่องเที่ยวในทุกชุมชนครอบคลุมทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

ท่องเที่ยวไทยเร่งทรานส์ฟอร์ม! ก้าวสู่ \"อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์\"

 

++ ลดข้อจำกัดเดินทาง-บูมอีเวนท์ใหญ่

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ภาครัฐจะต้องเร่งผลักดันนโยบายในการกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งเสริมการจัดอีเวนท์ขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสนับสนุนกลไกที่จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ 

รวมถึงกระทรวงฯ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไปให้เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่ามีความสามารถในการปรับตัว เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็ง สร้างสรรค์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ยังคงอัตลักษณ์ของไทย ต่อยอดการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และมีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

++ ท่องเที่ยวไทยพ้นจุดต่ำสุด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในหัวข้อ “ตลาดการท่องเที่ยวไทยปี 2022 & Beyond” ว่า หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 2,000-3,000 คนต่อวัน โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คาดการณ์ว่าตลอดเดือนพ.ย.นี้จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาไม่น้อยกว่า 1.3 แสนคน ถือเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างมาก

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมการท่องเที่ยวของไทย"

ปี 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท โดย 2 ใน 3 เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ ส่วน 1 ใน 3 มาจากตลาดในประเทศ ขณะที่ปี 2564 รายได้รวมอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ลดลงอย่างมากเหลือเพียง 10% ของรายได้รวมที่เคยทำได้สูงสุดแบบท็อปฟอร์ม  

"แต่จากนี้ไปถือเป็นสิ่งสำคัญว่า ล้มแล้วต้องลุกให้ไว จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาเพื่อความอยู่รอดและการจ้างงานของประเทศด้วยเป็นไปตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา"

++ ปี 65 หวังรายได้ 1.5 ล้านล้านฟื้น50%

อย่างไรก็ดี ปี 2565 ททท.ตั้งเป้ารายได้รวมการท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 50% ของปี 2562 ก่อนที่ในปี 2566 รายได้รวมน่าจะอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัว 80% ของปี 2562 บนเงื่อนไขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 20 ล้านคนจากปี 2562 ซึ่งปิดที่ตัวเลขเกือบ 40 ล้านคน โดยต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้น

“ปี 2565 ต้องเน้นการบริหารความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หรือไม่ แต่สุดท้ายยังคงต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ส่งผลให้การคาดการณ์ และตั้งเป้าหมายของ ททท.ได้แบ่งเป็น 3 ซีนาริโอด้วยกัน”

กรณีดีที่สุด (Best Case) ททท.คาดการณ์มีรายได้รวม 1.9 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 18 ล้านคน นักท่องเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง กรณีที่ฟื้นตัวในเงื่อนไขปัจจุบัน (Base Case) คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.6 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 13 ล้านคน นักท่องเที่ยวในประเทศ 140 ล้านคน-ครั้ง กรณีแย่ที่สุด (Worst Case) สถานการณ์การท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า รายได้รวมอาจเหลืออยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศ 122 ล้านคน-ครั้ง

 

++ AWC โชว์ฟีดแบ็กดีรับเปิดประเทศ

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า บริษัทได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากนโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ย. โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่ตั้งอยู่ในหัวเมืองสำคัญอย่างกรุงเทพฯ หรือภูเก็ตที่เปรียบเสมือนประตูด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นทันทีกว่า 2 เท่า รวมถึงแพ็คเกจ “Test & Rest SHA+” สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยบริการที่พักพร้อมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ที่ต่างได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“ด้วยชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งจุดหมายปลายทางที่โด่งดังในระดับโลก มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งทางทะเลและชายหาด เป็นศูนย์กลางการชอปปิงของภูมิภาค รวมถึงอาหารอันเลื่องชื่อ มาตรฐานธุรกิจการบริการด้านการโรงแรม และที่พักระดับสากล ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางและจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องการกลับมาเยือนหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น”

ทั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกของภาคการท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 และในช่วงต้นปีหน้าที่เริ่มมีกำลังซื้อจากกลุ่มนักเดินทางชาวต่างชาติกลับเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ และกำลังซื้อสูงที่เริ่มเดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกๆ รวมถึงงานในรูปแบบที่การประชุมออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ อาทิ งานแต่งงาน งานสัมมนารวมทีมสร้างพลังองค์กรและธุรกิจ ได้เห็นยอดคอนเฟิร์มการจัดงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีอัตราเติบโตกลับมาได้ต่อเนื่องการสามารถกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไป

“กลยุทธ์ของบริษัท ที่มีความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก ทำให้ดึงฐานลูกค้าเดิมที่มีกำลังซื้อสูงกลับเข้ามาได้ทันทีตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ งถือเป็นจุดแข็งของเราในการร่วมกับพันธมิตรให้การสร้างคุณค่าและประสบการณ์รวมทั้งจัดรูปแบบบริการแบบองค์รวมในการดูแลการเดินเข้ามาในประเทศ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับการท่องเที่ยวไทยของเรากลับมาดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกอีกครั้ง”

 

++ เพิ่มพอร์ตโรงแรมเป็น 19 แห่งในเครือ AWC

บริษัท ยังเดินหน้าเสริมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่อง วานนี้ (9 พ.ย.) ได้ฤกษ์เปิดให้บริการโรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ เป็นโรงแรมแห่งที่ 19 ในเครือ มีขนาด 248 ห้องพักที่บริหารโดยแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล เครือโรงแรมระดับโลกที่มีแบรนด์อันโดดเด่นภายใต้การบริหารกว่า 30 แบรนด์ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นโรงแรมแห่งแรกภายใต้แบรนด์ “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท” บนเกาะภูเก็ต สอดคล้องกับกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจของบริษัทฯที่มุ่งสร้างเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของโลกและพัฒนาภาพรวมของธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยวในอนาคต รวมถึงส่งเสริมความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในภาพรวม

บริษัทฯมุ่งมั่นที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศและกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยประกาศความพร้อมต้อนรับนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสู่กลุ่มโรงแรมในเครือทั่วประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ใน 6 เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง กรุงเทพฯ กระบี่ หัวหิน ภูเก็ต เชียงใหม่ และเกาะสมุย ผ่านการรับรองและให้บริการตามมาตรฐานของ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA+ รวมถึงมาตรฐานของเชนบริหารโรงแรมระดับโลกที่ให้ความสำคัญและเข้มงวดในเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และความปลอดภัยของแขกผู้มาใช้บริการ ทั้งในส่วนของห้องพัก ห้องอาหาร รวมถึงสระว่ายน้ำ และบริการสปาภายในโรงแรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่อย่างครบวงจร

 

++ ไมเนอร์ฯ แนะสูตรบริหาร รร.รับเปิดประเทศ

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ซึ่งทำธุรกิจใน 63 ประเทศทั่วโลก กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมแผนรองรับการเปิดประเทศ ด้วยการวิเคราะห์ซีนาริโอหรือสมมติฐานต่างๆ เพื่อเตรียมแผนรับมือ มุ่งสร้างการรับรู้ และความแข็งแกร่งของแบรนด์ และสื่อสารว่าโรงแรมมีมาตรการรองรับอย่างไร

นอกจากนี้ยังต้องตัดต้นทุน ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังต่อเนื่องในปีนี้ เพราะแม้จะมีการประกาศเปิดประเทศ แต่รายได้ก็ยังไม่ได้เข้ามาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“กลยุทธ์สำคัญที่ต้องนำมาใช้บริหารโรงแรมท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ต้องเร่งนำธุรกิจกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ด้วยการติดตามข่าวสาร และมาตรการรัฐต่างๆ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยนอกจากการลดกระแสเงินสดไหลออก ชะลอการลงทุนโครงการใหญ่ เพื่อรักษาบ่อน้ำหลังบ้านให้เพียงพอแล้ว การตัดต้นทุนยังช่วยให้เห็นจุดคุ้มทุน และเจอกำไรเร็วขึ้นด้วย ควบคู่กับการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และคว้าโอกาสใหม่ๆ ในยุคนิวนอร์มอล เช่น ตลาดสเตย์เคชั่น เวิร์คเคชั่น และกลุ่มพำนักระยะยาว ซึ่งโรงแรมต้องมีแพ็คเกจห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์แต่ละกลุ่ม”

สำหรับเทรนด์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเปิดประเทศคือ นิยมจองห้องพักแบบกระชั้นชิด (ลาสต์มินิท) มากขึ้น นักท่องเที่ยวกลุ่มลักซ์ชัวรี่ และอัพสเกลจะเป็นกลุ่มที่กลับมาเร็วกว่าตลาดอื่นๆ ด้วยกำลังซื้อที่มีมากกว่าในมือ ขณะที่เทรนด์การจองห้องพัก พบว่าในช่วงโควิด-19 โรงแรมในเครือไมเนอร์มียอดจองโดยตรงผ่านเวบไซต์มากขึ้น และคนจองผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTAs) น้อยลง ธุรกิจโรงแรมจึงจำเป็นต้องปรับปรุงหน้าเวบไซต์ให้ทันสมัยและดึงดูดมากที่สุด

อีกเทรนด์ที่ต้องจับตา และเจาะให้สำเร็จคือ นักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัยซึ่งมีพลังการใช้จ่ายสูง รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวใหญ่ เพราะหลังจากโควิด-19 ระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปกับคนในครอบครัวซึ่งรู้สึกไว้วางใจมากกว่า และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ก็ทำให้สมาชิกครอบครัวกลมเกลียวกันมากขึ้น โรงแรมต้องจัดเตรียมห้องพัก สิ่งอำนวยความสะดวก หรือแพ็คเกจที่รองรับความต้องการเหล่านี้

 

++ ทัวริสต์แห่ขอ ‘ไทยแลนด์พาส’ เฉียด 1 แสนคน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หลังจากเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ได้รับรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยื่นเอกสารสมัครขอ “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) เพื่อขอเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วเกือบ 1 แสนคน จึงเชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว 

ส่งผลให้ปี 2565 สามารถเดินหน้าได้ กลับมาเป็นแชมเปี้ยนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกอีกครั้ง โดยสมาคมฯคาดการณ์ว่าปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 10 ล้านคน ซึ่งขึ้นกับนโยบายของประเทศต้นทางและสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ด้วย

 

++ ‘ซีเอ็มโอ’ ชูอีเวนท์โหมเปิดประเทศ

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CMO จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจไมซ์ (MICE : การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า) อยู่บนทาง 2 แพร่ง ระหว่างออนไลน์และออนกราวนด์ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก งานไมซ์ในยุคระหว่างและหลังโควิด-19 จะมีส่วนผสมสองสิ่งนี้ บางงานอาจเป็นออนไลน์ 100%

“เชื่อว่าการสร้างประสบการณ์จริงจะยังไม่หายไปไหน เพราะเป็นประสบการณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความเป็นมนุษย์ ผมจึงไม่อยากให้เราหมดศรัทธาต่อธุรกิจการสร้างประสบการณ์”

อย่างไรก็ตาม มองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องสร้างสินค้าท่องเที่ยวใหม่ ภาคเอกชนควรรวมพลังสร้างเอกลักษณ์ใหม่ของแต่ละย่าน นอกจากนี้จำเป็นต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนเพิ่ม เพื่อให้นักท่องเที่ยวพำนักนานขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ตลาดกลางคืน โชว์กลางคืน ซึ่งเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้คนพักค้างคืนเพิ่ม ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเมกะอีเวนท์ด้านท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติมารวมตัวกันในช่วงเวลาเป้าหมาย รวมถึงการสร้างงานอีเวนท์อื่นๆ เพื่อกระตุ้นต่อมประสบการณ์ ให้การท่องเที่ยวสร้างประสบการณ์ คุณค่า และอารมณ์ใหม่

ท่องเที่ยวไทยเร่งทรานส์ฟอร์ม! ก้าวสู่ \"อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์\" ท่องเที่ยวไทยเร่งทรานส์ฟอร์ม! ก้าวสู่ \"อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์\"