‘ณรงค์ชัย‘ ชี้ 3 ปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจไทยปีหน้า

เปิดใจ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ค้านปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ชี้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด​ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าเผชิญ 3 ปัจจัยเสี่ยง

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีนี้ แต่การเติบโตคงไม่มากมองว่าไม่น่าเกิน 4% เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ ได้แก่ 1.แนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น กระทบต้นทุนของภาคธุรกิจ 2.ต้นทุนการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันพลังงานฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน มีแนวโน้มลดลง เพราะทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติพลังงานฟอสซิลยังมีความต้องการใช้สูงอยู่ ขณะเดียวกันการระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการขนส่ง เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

และ 3.ข้อจำกัดในฝั่งของดีมานด์ หรือ ความต้องการที่ลดลง เพราะหลังเกิดการระบาดของโควิดทำให้ประชาชนมีหนี้เพิ่มขึ้น และแม้เราจะเปิดประเทศแล้ว นักท่องเที่ยวคงไม่ได้กลับมาคึกคักทันที การฟื้นตัวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะวิกฤตโควิดรอบนี้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อเป็นอย่างมาก

ส่วนแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล มองว่าหลายมาตรการเป็นโครงการที่ดี การแจกเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้ายังเป็นสิ่งจำเป็น แต่นโยบายในการสร้างงานสร้างอาชีพกลับยังไม่ค่อยเห็น แม้ว่าจะวางไว้หลายนโยบาย แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากกฎระเบียบข้อบังคับในการใช้เงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ค่อนข้างยุ่งยาก ส่วนตัวจึงยังไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ที่จะกู้เงินเพิ่ม หากยังไม่มีการแก้กฎระเบียบข้อบังคับในการใช้เงิน

ขณะที่ข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการลดภาษี 

ไม่ตรงกับหลักการของภาษีสรรพสามิต เพราะวัตถุประสงค์หลักที่ต้องเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนใช้น้ำมันเยอะเกินไป เพราะจะกระทบต่อรายได้ของประเทศ เนื่องจากน้ำมันส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ 

โดยมองว่าวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลราคาพลังงาน คือ การใช้กองทุนน้ำมันเข้ามารักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในประเทศ อย่างช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น นำเงินจากกองทุนเข้าไปอุดหนุน ถ้าเงินไม่พอสามารถกู้เพิ่มได้ เนื่องจากกองทุนจัดตั้งในรูปแบบของนิติบุคคลอยู่แล้ว และในอนาคตเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง กลับมาเก็บเงินเข้ากองทุน ส่วนหนึ่งก็เอาไปใช้หนี้ที่กู้ยืมมา ส่วนที่เหลือก็เก็บสะสมไว้