DELTA หลุดคำนวณดัชนี กองทุนจ่อขายหุ้นไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน

DELTA หลุดคำนวณดัชนี กองทุนจ่อขายหุ้นไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน

DELTA ร่วงกว่า 13% เซ่นปม ตลท.ปรับเกณฑ์คำนวณดัชนี “บล.ทรีนีตี้” คาดกองทุนจ่อขายไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน เหตุหลุดคำนวณ “SET50-SET100” หลังเข้าข่ายมาตรการกำกับซื้อขายสูงถึง 7 เดือน “บล.เอเซีย พลัส” แนะลดน้ำหนักการลงทุน

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA วานนี้ (8 พ.ย.) หลังเปิดตลาดราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปิดที่ 391 บาทต่อหุ้น ลดลง 61 บาท หรือ 13.50% มูลค่าการซื้อขาย 3,284.41 ล้านบาท

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวลงจากปัจจัยลบเฉพาะตัว คาดจะไม่ผ่านเกณฑ์เข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 รอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.2565) ซึ่งจะประกาศผลการคัดเลือกในช่วงเดือนธ.ค.2564 นี้

ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับเพิ่มหลักเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Qualitative Factor) กล่าวคือ ต้องมีการซื้อขายปกติอย่างน้อย 9 ใน 12 เดือนย้อนหลัง หรือมีเดือนที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายไม่เกิน 3 เดือน ซึ่ง DELTA เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายไปแล้ว 7 เดือน

จากข้อมูลของ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ณ วันที่ 5 พ.ย. พบว่า กองทุนดัชนี SET50 มีมูลค่ารวมประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่หุ้น DELTA มีน้ำหนักในดัชนี SET50 ประมาณ 4% ส่งผลให้เบื้องต้นประเมินเม็ดเงินไหลออกไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท เพราะคาดว่ามีความเสี่ยงที่กองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนดัชนี SET100 กองทุนดัชนี SET และกองทุนที่มีนโยบายเชิงรุก (Active Fund) จะปรับลดน้ำหนักการลงทุน

สำหรับปัจจัยลบดังกล่าวจะกระทบต่อดัชนีหุ้นไทยจำกัด เพราะเงินที่ไหลออกจาก DELTA จะย้ายไปลงทุนหุ้นตัวอื่นๆ ซึ่งหุ้นที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำ “ขาย” DELTA เนื่องจากราคาหุ้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาเหมาะสมที่ให้ไว้ 190 บาทต่อหุ้น รวมถึงมีปัจจัยลบหลุดการคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินลงทุนทั้งจากกองทุนที่มีนโยบายเชิงรับ (Passive Fund) และ Active Fund หายไป

ส่วนกลยุทธ์การลงทุน นักลงทุนที่มีหุ้นในพอร์ต แนะนำลดน้ำหนักการลงทุน โดยหาจุดล็อกกำไร หรือขายตัดขาดทุน ส่วนคนที่ยังไม่มีหุ้นในพอร์ต แนะนำรอจุดเข้าซื้อภายหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อหุ้นเข้าคำนวณดัชนีปีหน้า

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์