อย่าให้ใครตกขบวน ฟื้นฟูหลังเปิดประเทศ

อย่าให้ใครตกขบวน  ฟื้นฟูหลังเปิดประเทศ

สิ่งที่จำที่คู่ขนานกับการควบคุมการระบาดคือ การลดผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาการจ้างงาน แม้จำนวนผู้ว่างงานไม่ได้อยู่ในอัตราที่สูงมาก แต่ยังมีปัญหาชั่วโมงทำงานที่ลดลง และมีผลถึงรายได้ของประชาชนที่ลดลงตามชั่วโมงทำงาน

การเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.2564 จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการฟื้นฟูประเทศหลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งผลกระทบทางสังคมและผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยนำร่องการเปิดประเทศผ่านโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 เป็นการนำร่องให้นัำท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีในระดับหนึ่งและมีการขยายไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนที่จะขยายไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่น

หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการคู่ขนานการควบคุมการระบาดที่ยังต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อไป คือ การลดผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ซึ่งแม้จำนวนผู้ขอรับเงินชดเชยประกันการว่างงานจะมีแนวโน้มลดลง รวมถึงจำนวนผู้ว่างงานไม่ได้อยู่ในอัตราที่สูงมาก แต่ยังมีปัญหาชั่วโมงทำงานที่ลดลง และมีผลถึงรายได้ของประชาชนที่ลดลงตามชั่วโมงทำงาน

รวมถึงความสามารถในการจ้างงานของผู้ประกอบการหลังจากนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้นกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มาก ซึ่งที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งที่หยุดประกอบการ เช่น เอสเอ็มอีในธุรกิจร้านอาหาร บริการ การท่องเที่ยว ในขณะที่เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจอื่นที่ประคองการจ้างงานไว้ได้ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่ได้อยู่ในอัตราเร่งอาจทำให้เอสเอ็มอีมีขีดความสามารถในการประคองธุรกิจไปได้อีกไม่นานและอาจได้รับผลกระทบทางธุรกิจมากขึ้น

ขณะนี้ประชาชนในระดับฐานราก ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลให้การดูแลผ่านระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะได้รับเงินอุดหนุนในการซื้อสินค้า ก๊าซหุงต้มและค่าเดินทาง รวมทั้งได้รับการจัดสรรเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ระบุถึงการรับความช่วยเหลือจากรัฐควบคู่การพัฒนาเพื่อให้ตัวเองพ้นจากการอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยของประเทศ

 

ในช่วงที่ผ่านมาดังกล่าวยังไม่ถูกนำมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการเสียโอกาสที่รัฐจะยกระดับชีวิตของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและทุกคนต่างเร่งสปีดเพื่อดึงตัวเองให้พ้นจากหลุมดำ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ เอสเอ็มอีและประชาชนทั่วไป ดังนั้นการฟื้นฟูผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจึงควรได้รับการส่งเสริมอย่างทั่วถึงในรูปแบบที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสฟื้นฟูหลังการระบาดคลี่คลายลง