ส่องโมเดลธุรกิจ "Paypal" มีรายได้หลักจากไหนบ้าง

ส่องโมเดลธุรกิจ "Paypal" มีรายได้หลักจากไหนบ้าง

จากกระแสข่าว "PayPal" กลับมาดำเนินธุรกิจในไทยอีกครั้ง พร้อมออกนโยบายใหม่ที่อาจสะเทือนกลุ่มฟรีแลนซ์รายย่อย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนส่อง "โมเดลธุรกิจ" ของแพลตฟอร์มชำระเงินระดับโลกรายนี้ว่าเป็นอย่างไร และมีรายได้หลักจากไหนบ้าง

ไม่กี่วันที่ผ่านมา PayPal ประเทศไทย ออกคำเตือนอาชีพอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ในประเทศไทย ต้องจดทะเบียนเป็นบัญชีธุรกิจยืนยันตัวตนรับกฎใหม่ของ PayPal และการหวนคืนตลาดไทย โดยระบุไว้ในหน้าเว็บว่า

PayPal กำลังเตรียมเปิดให้บริการอีกครั้งในไทย หากคุณเปิดบัญชีก่อนวันที่ 7 มี.ค. 2564 ต้องดำเนินการใช้บัญชีคุณในประเทศไทยได้ต่อไป โดยต้องยืนยันภายใน 18 ก.พ. 2565 ไม่เช่นนั้น ความสามารถของบัญชีจะถูกจำกัด ไม่สามารถส่ง จ่าย หรือรับการชำระเงินผ่าน PayPal ได้

ข้อตกลงผู้ใช้งานฉบับใหม่ล่าสุดของ PayPal ประเทศไทย มีผลครอบคลุมทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมในไทย โดยกฎใหม่นี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ที่ทำอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์

ในตลาดประเทศไทย PayPal เคยเป็นระบบชำระเงินออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมาก ตั้งแต่ในยุคดอทคอมเริ่มต้นและรุ่งเรือง ขณะที่ในตลาดโลก Paypal ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการชำระเงิน

ส่องโมเดลธุรกิจ \"Paypal\" มีรายได้หลักจากไหนบ้าง

ทั้งนี้ PayPal เป็นบริการการชำระเงินที่บริหารโดย PayPal Holdings Inc. (เพย์พาล โฮลดิงส์ อิงค์) บริษัทผู้ให้บริการการชำระเงินรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ที่ดำเนินการระบบการชำระเงินออนไลน์ในประเทศส่วนใหญ่ที่รองรับการโอนเงินออนไลน์ และทำหน้าที่เป็นทางเลือกทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้กระดาษแบบดั้งเดิม

  • โมเดลธุรกิจ

สำหรับรูปแบบหรือโมเดลธุรกิจของ PayPal ถือว่าน่าสนใจ เนื่องจากดำเนินการแบบ “ฟินเทค” หรือบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน และแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวก 2 ฝ่าย

ฝ่ายแรกคือ ผู้ค้า หรือกลุ่มธุรกิจที่ใช้บริการของ PayPal ในการทำธุรกรรมทางการเงิน

อีกฝ่าย คือ ผู้บริโภค หรือกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลทั่วไปที่จะทำการชำระเงินต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มนี้

หากย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว การโอนเงินระหว่างประเทศถือเป็นปัญหาใหญ่ชวนปวดหัว และ PayPal นำเสนอโซลูชั่นที่พลิกวงการ ด้วยบริการที่ช่วยให้การทำธุรกรรมเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าทำผ่านธนาคารและบริษัทการเงินอื่น ๆ

ปัจจุบัน PayPal เปิดให้บริการในกว่า 200 ประเทศและดินแดน และมีผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านรายทั่วโลกนับถึงไตรมาส 2 ปี 2564

  • ประวัติความเป็นมา

บริษัท PayPal ก่อตั้งในปี 2541 และเปิดให้บริการในปีถัดมา ภายใต้ระบบโอนเงินชื่อว่า “Confinity” โดยในยุคนั้น Confinity มีคู่แข่งสำคัญคือ X.com ซึ่งก่อตั้งโดย “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกคนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างดุเดือด ทั้งสองบริษัทกลับควบรวมกิจการกันจนพากันเติบโตและครองอุตสาหกรรมการชำระเงินตั้งแต่นั้นมา

ส่องโมเดลธุรกิจ \"Paypal\" มีรายได้หลักจากไหนบ้าง

ข้อได้เปรียบสำคัญของโมเดลธุรกิจ PayPal คือการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนหลัก และใช้อีเมลเป็นตัวกลางในการโอนเงิน ลูกค้าทุกคนสามารถเปิดบัญชีทางออนไลน์ และฝากเงินหรือเชื่อมบัญชีเข้ากับธนาคารหรือบัญชีบัตรเครดิตได้ด้วย

ภายในเวลาเพียง 8 เดือน จำนวนบัญชีผู้ใช้ของ PayPal เติบโตจาก 12,000 บัญชี มาแตะที่ 2.7 ล้านบัญชี และในปี 2544 ก็มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 9 ล้านราย และมียอดการทำธุรกรรมกว่า 120,000 ครั้งต่อวัน

  • eBay ซื้อกิจการ

ด้วยตัวเลขการเติบโตที่สวยหรูนี้ PayPal จึงถือโอกาสเข้าตลาดหุ้นในปี 2545 และถูกซื้อกิจการโดย “eBay” เว็บไซต์ช้อปปิ้งและประมูลออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น

แม้ว่า eBay ไม่เคยอธิบายเหตุผลของการซื้อกิจการ PayPal อย่างกระจ่างแจ้ง แต่เป็นที่รู้กันว่า 60% ของการทำธุรกรรมของ PayPal มาจากการประมูลสินค้าใน eBay

ส่องโมเดลธุรกิจ \"Paypal\" มีรายได้หลักจากไหนบ้าง

นอกจากนี้ ผู้ใช้ PayPal ส่วนใหญ่ยังมาจาก eBay ซึ่งใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินนี้อยู่แล้ว

ปัจจุบัน PayPal กลายเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ทรงพลังที่สุดในโลก และเป็นโซลูชั่นการชำระเงินออนไลน์ชั้นนำในอุตสาหกรรมด้วย

  • เปิดงบการเงิน PayPal

ผลประกอบการของ PayPal ถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนหันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น บริษัทรายงานว่า ในปีงบการเงิน 2563 ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2563 มีผลกำไรสุทธิ 4,200 ล้านดอลลาร์ จากรายได้รวม 21,500 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ผลกำไรสุทธิของ PayPal เพิ่มขึ้น 70.9% ขณะที่รายได้รวมเติบโต 20.7% เทียบกับปีงบการเงิน 2562 โดยผลกำไรอันสวยหรูนี้ส่วนใหญ่ได้แรงหนุนจากการที่บริษัทเพิ่มการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ในปีที่ผ่านมา

เมื่อดูตามสัดส่วนแหล่งที่มารายได้ของ PayPal ส่วนใหญ่ราว 93% มาจากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม ส่วนอีก 7% มาจากค่าบริการด้านอื่น ๆ

กว่าครึ่งหนึ่ง (51%) ของรายได้ทั้งหมดของ PayPal ในปี 2563 มาจากตลาดใหญ่อย่างสหรัฐ ขณะที่ 11% มาจากในสหราชอาณาจักร และอีก 38% มาจากในประเทศที่เหลือทั่วโลก

  • เก็บค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง

สำหรับบัญชีบุคคลทั่วไป PayPal จะเก็บค่าธรรมเนียมจากแต่ละครั้งที่ผู้ใช้โอนเงินและได้รับเงินออนไลน์ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

นอกจากนั้น ค่าธรรมเนียมดังกล่าวคำนวณจากจำนวนเงินที่ถูกโอนโดยใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต หรือเครดิต PayPal

ส่วนบัญชีธุรกิจ ผู้ค้าซึ่งใช้ PayPal ในการจำหน่ายสินค้า/บริการออนไลน์ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2.9% ของจำนวนเงินที่ได้รับจากการขาย บวกกับอีก 0.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง แต่ยิ่งได้รับเงินก้อนใหญ่เท่าไหร่ ก็จะเสียค่าธรรมเนียมส่วนหลังลดลงตามไปด้วย

หมายความว่า หากผู้ใช้บัญชีธุรกิจ ได้รับเงินค่าสินค้า/บริการครั้งละ 100 ดอลลาร์ผ่าน PayPal จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2.9 ดอลลาร์+0.30 ดอลลาร์ รวมเป็น 3.20 ดอลลาร์  สรุปจะเหลือเงินเข้าบัญชีครั้งละ 96.80 ดอลลาร์

ขณะเดียวกัน PayPal ยังเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินด้วย เมื่อผู้ใช้บัญชีบุคคลทั่วไปได้รับเงินผ่านลิงก์ที่ระบบให้มา PayPal จะเก็บค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินก้อนนั้น ๆ

ในสหรัฐ PayPal เก็บค่าธรรมเนียมถอนเงิน 2.9% ของยอดเงินทั้งหมดที่ได้รับ บวกอีก 0.30 ดอลลาร์ รวมถึงเก็บค่าธรรมเนียมจากการถอนเงินด้วยบัตรเดบิตในแต่ละครั้งด้วย

------------

อ้างอิง: Investopedia, BusinessModelAnalyst, PayPal