SFLEX ผนึก TU- BTS- COM7 ดันรายได้ปี 70 แตะ 7 พันล้าน

SFLEX ผนึก TU- BTS- COM7 ดันรายได้ปี 70 แตะ 7 พันล้าน

"สตาร์เฟล็กซ์" เปิดวิชั่นใหม่ ภายในปี 2570 บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะ “ระดับ 7,000 ล้านบาท” หรือเติบโตถึง “4 เท่าตัว” จ่อ “ผนึกกำลัง” (Synergy) ร่วมกับ พันธมิตร 3 ราย TU-BTS-COM7

หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเกือบ 2 ปี (เข้าซื้อขายวันแรก 19 ธ.ค.2562) ของ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) “ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 26.38% (ปิดสมุด 16 ก.ย.2564) วางแผนธุรกิจระยะยาว 6 ปี (2565-2570) เพื่อก้าวสู่เป้าหมายต้องการ “ยกระดับและพัฒนาธุรกิจให้เป็นบริษัทระดับภูมิภาค” 

“สมโภชน์ วัลยะเสวี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX ถือโอกาสแจกแจงแผนธุรกิจทันที หลัง “ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์” แนะนำตัวผู้บริหารคนใหม่ให้ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” รู้จัก ! 

สำหรับ “วิชั่น” (เป้าหมาย) ของ “สตาร์เฟล็กซ์” ภายในปี 2570 บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะ “ระดับ 7,000 ล้านบาท” หรือเติบโตถึง “4 เท่าตัว” จากปี 2564 ที่คาดว่ารายได้อยู่ที่ 1,560 ล้านบาท สอดรับกับแผนโครงสร้างธุรกิจในอนาคตอยากเป็น “โฮลดิ้ง คอมพานี” (Holding Company) ที่สร้างการเติบโตผ่าน “4 โมเดลธุรกิจ” 

SFLEX ผนึก TU- BTS- COM7 ดันรายได้ปี 70 แตะ 7 พันล้าน คือ 1.เกมของการ “ผนึกกำลัง” (Synergy) โดยกำลังร่วมกับ “พันธมิตร 3 ราย” ที่เข้ามาลงทุนเริ่มต้นจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ซึ่งถือเป็นบริษัทผู้บริโภคผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ (แพคเกจจิ้ง) รายใหญ่ของเมืองไทย  ผ่าน “ร่วมทุน” (Joint Venture) กับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กราฟฟิกส์ จำกัด บริษัทย่อย TU เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยทุนจดทะเบียน จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่ง สตาร์เฟล็กซ์ ถือหุ้น 51% และ ไทยยูเนี่ยน กราฟฟิกส์ ถือหุ้น 49% รวมทั้ง “ธีรพงศ์ จันศิริ” หุ้นใหญ่ TU ถือหุ้น SFLEX จำนวน 2.44% ซึ่งเป็นการลงทุนส่วนตัว 

โดยแผนลงทุน 5 ปี ของบริษัทร่วมทุนคาดใช้เงินลงทุนราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งทยอยลงทุนต่อเนื่องเริ่มต้นด้วยเงินลงทุน 250 ล้านบาทก่อน และคาดยอดขายปี 2570 อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 21% คาดสร้างโรงงานจะเริ่มผลิตได้ปี 2566 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่สนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ของ “กลุ่มไทยยูเนี่ยน” เพื่อตอบโจทย์เรื่องคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับโลก การร่วมมือครั้งนี้ ยังเป็นไปตามแผนการขยายตลาดและขยายฐานรายได้ของ SFLEX

นอกจากผลตอบแทนของการลงทุนในแง่ของ “ผลกำไร” แล้ว สิ่งที่บริษัทได้จากการ JV ครั้งนี้คือ “ข้อมูลและเทรนด์แพคเกจจิ้งอาหาร” ในตลาดต่างประเทศอย่างทันท่วงที สะท้อนผ่าน TU เป็นผู้บริโภคบรรจุภัณฑ์อาหารขนาดใหญ่ของไทย รวมทั้งการวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเป้าหมายอยากยกระดับบรรจุภัณฑ์อาหารของไทยเทียบระดับโลก ดังนั้น หากบริษัทเป็นแค่คู่ค้าของ TU การเติบโตก็จะมาจาก “คำสั่งซื้อ” (ออเดอร์) ในแต่ละปีเท่านั้น ซึ่งเป็นออเดอร์จำนวนไม่มาก แต่หากบริษัทต้องการให้บรรจุภัณฑ์อาหารเติบโตแบบ บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตให้กับ “ยูนิลีเวอร์” ก็ต้องใช้เวลานับ 10 ปี แต่วันนี้บริษัทกำลังทำทุกอย่างสั้นลงด้วยการ JV กับ TU ซึ่งทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์อาหารภายใน 2-3 ปีข้างหน้า 

“ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าไปพร้อมกับโนฮาว (Know-How) จากลูกค้า ส่วนกลุ่ม TU ก็สามารถตอบโจทย์บรรจุภัณฑ์ตามสเปกที่ต้องการด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก”

การร่วมมือกับกลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS  ถือหุ้น 6.71% ถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ หลากหลายประเภทในปริมาณสูง ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างทำงานร่วมกันเชิงต่อยอดธุรกิจในอนาคต คาดเบื้องต้นจะเห็นการ Synergy กับบริษัทในเครือบีทีเอส อย่าง บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ KEX 

ส่วนการเข้ามาถือหุ้นของ “สุระ คณิตทวีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ถือหุ้นจำนวน 4.88% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลธุรกิจในอนาคตในมิติใหม่ร่วมกัน 

2.การขยายธุรกิจต่างประเทศ วางเป้าหมายรายได้ปี 2570 อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 21% โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม) ปัจจุบันกำลังศึกษาซื้อกิจการธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในประเทศเวียดนาม คาดจะมีความชัดเจนต้นปี 2565 ซึ่งเป้าหมายการลงทุนในต่างประเทศเนื่องจากต้องการแลกเปลี่ยนโนฮาวต่างๆ กับผู้ผลิตและคู่ค้าในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของบริษัทให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและอยู่ในเทรนด์ 

3.จัดตั้งบริษัท พี เอส พลัส คอนซัลติ้ง จำกัด (PS+) วางเป้าหมายรายได้ปี 2570 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 14% เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start Up) ที่อยู่ในเมกะเทรนด์ และมีศักยภาพการเติบโตสูง ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยงข้องโดยตรงกับบริษัท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุน อาทิ ธุรกิจรีไซเคิล (Recycle) แปรรูปพลาสติก ธุรกิจบริการ เป็นต้น 

และ 4.ธุรกิจหลักบรรจุภัณฑ์ในประเทศ วางเป้าหมายปี 2570 รายได้ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 43% โดยเป็นการเติบโตจาก “ธุรกิจหลัก” (Organic growth) โดยบริษัทปรับแผนธุรกิจใหม่มุ่งเน้นบรรจุภัณฑ์เกรดพรีเมี่ยม โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จินระดับสูง “อาหาร-อุปกรณ์การแพทย์” ซึ่งมีเป้าหมายปี 2565 เพิ่มสัดส่วนรายได้ บรรจุภัณฑ์อาหาร (FOOD) เป็น 25% เดิม 21% และ บรรจุภัณฑ์ไม่ใช่อาหาร (Non Food) เหลือ 75% เดิม 79% เนื่องจากธุรกิจอาหารมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง 

สอดคล้องกับแผนการลงทุน “โรงงานแห่งใหม่” ที่จะเข้ามารองรับบรรจุภัณฑ์อาหารและอุปกรณ์การแพทย์ คาดว่าโรงงานแห่งใหม่จะเสร็จไตรมาส 1 ปี 2565 โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาเป็น 265 ล้านเมตรต่อปี จากปัจจุบันกำลังผลิตอยู่ที่ 180 ล้านเมตรต่อปี ซึ่งบริษัทมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งมีแผนการย้ายเครื่องจักร และเครื่องเป่าฟิล์ม (Blown Film) ที่ผลิตอยู่ที่โรงงานแห่งที่ 2 มารวมอยู่ที่โรงงานแห่งใหม่ 

ดังนั้น นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพ และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากเดินเครื่องกำลังการผลิตโรงงานแห่งใหม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว จะส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างดี 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 1,850 ล้านบาท เติบโต 18% จากปีนี้ที่คาดว่ารายได้อยู่ที่ 1,560 ล้านบาท จากการเน้นขยายกลุ่มลูกค้าไปยังบรรจุภัณฑ์อาหาร และบรรจุภัณฑ์การแพทย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ และธุรกิจมีการเติบโตในอนาคต 

“ปัจจุบันเรามีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ลูกค้ารายใหม่เข้ามาเพิ่มกว่า 60 รายการ คาดว่าโรงงานแห่งใหม่แล้วเสร็จจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นอีก” 

ท้ายสุด “สมโภชน์” บอกไว้ว่า ในแผนระยะยาวของเราต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกำลังผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเมกะเทรนด์ใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนไป