เปิดทุกสเต็ป "มิจฉาชีพ" อ้างเป็นตำรวจหลอกให้โอนเงิน สูญเกือบ 3 ล้านบาท

เปิดทุกสเต็ป "มิจฉาชีพ" อ้างเป็นตำรวจหลอกให้โอนเงิน สูญเกือบ 3 ล้านบาท

ถอดบทเรียนเหยื่อมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นตำรวจและบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง หลอกให้โอนเงินเกือบ 3 ล้านบาท พร้อมส่องวิธีรับมือกลลวงยอดฮิตของแก๊งมิจฉาชีพ เพื่อรู้เท่าทันหากตกอยู่ในสถานการณ์จริง

ไม่นานนี้ เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุทาหรณ์สำหรับหลายคน คุณบุศ วิทยากรด้านสุขภาพและโยคะ เจ้าของเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 5 หมื่นคน เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ว่า เจอแก๊งมิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นพนักงานบริษัทขนส่ง DHL และตำรวจภูธรเชียงใหม่ ใช้กลอุบายจิตวิทยาหลอกให้โอนเงินจำนวนเกือบ 3 ล้านบาท ซึ่งเธอได้แจ้งความกับตำรวจแล้ว และอยากแชร์เป็นบทเรียน

เปิดทุกสเต็ป \"มิจฉาชีพ\" อ้างเป็นตำรวจหลอกให้โอนเงิน สูญเกือบ 3 ล้านบาท

เธอเผยว่า ในวันเกิดเหตุ ได้รับโทรศัพท์จากคนที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ DHL เป็นแบบอัตโนมัติ (เบอร์ 055-003-579) แจ้งว่ามีพัสดุผิดกฎหมาย ตีกลับ และโอนสายไปที่เจ้าหน้าที่ DHL ผู้หญิงรับแล้วแจ้งว่า "คุณได้ส่งของไปปักกิ่งหรือไม่ เป็นพัสดุผิดกฎหมาย" เธอตอบปฏิเสธ จากนั้น ปลายสายแจ้งว่า "มีคนปลอมแปลงแล้วใช้ชื่อคุณในการส่งพัสดุผิดกฎหมาย ให้ไปแจ้งความ"

เปิดทุกสเต็ป \"มิจฉาชีพ\" อ้างเป็นตำรวจหลอกให้โอนเงิน สูญเกือบ 3 ล้านบาท

เนื่องจากไม่สะดวกไปแจ้งความในวันนั้น เธอจึงถามกลับว่า พรุ่งนี้ได้หรือไม่ เพราะไม่มีใครอยู่ ปลายสายจึงโอนสายให้อีกคนที่อ้างตัวเป็นตำรวจภูธรเชียงใหม่

ด้วยความที่ตกใจ เธอจึงเข้าใจว่าปลายสายเป็นเจ้าหน้าที่จริง และทำตามทุกขั้นตอนเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์

ถึงจุดนี้ ปลายสาย (ที่อ้างตัวเป็นตร.เชียงใหม่) บอกให้เดินทางไปเชียงใหม่ทันที เธอตอบว่า ตนอยู่ กทม.เดินทางไปไม่ได้ ปลายสายจึงบอกว่า แจ้งความผ่านไลน์แทนได้ จากนั้น ปลายสายจึงแอดไลน์โดยใช้ไลน์ชื่อ สภ.เมืองเชียงใหม่ แล้วโทรไลน์หาเธอ

เปิดทุกสเต็ป \"มิจฉาชีพ\" อ้างเป็นตำรวจหลอกให้โอนเงิน สูญเกือบ 3 ล้านบาท
- ไลน์ปลอมอ้างเป็นตร. -

ระหว่างที่เธอคุยกับมิจฉาชีพที่อ้างเป็นตำรวจทางไลน์ เสียงคนแรกที่อ้างเป็นผู้หมวด ก็ทำทีเหมือนสอบสวนแล้วแจ้งเธอว่า มีชื่ออยู่ในคดีฟอกเงินจำนวน 8 ล้าน และคดีนี้เป็นความลับอยู่ เพราะจับตัวผู้ต้องหาได้แค่ส่วนหนึ่ง ยังขาดอีกร้อยกว่าคน ฉะนั้นเรื่องนี้ ห้ามให้ใครรู้เด็ดขาด แม้กระทั่งคนในครอบครัว

แก๊งมิจฉาชีพแจ้งเธอว่า ขั้นตอนต่อไป จะสอบสวนโดยจะมีการอัดเสียง ระหว่างนี้ห้ามมีเสียงเข้า ให้อยู่ในที่เงียบ

ระหว่างนั้น แก๊งมิจฉาชีพมีการสอบสวนตรวจสอบ ถามเลขบัญชีและยอดเงินอย่างละเอียด และขู่เธอว่า ถ้ามีนอกเหนือจากนี้คือ บัญชีปลอมที่ทางธนาคารจะทำการอายัดทั้งหมด

มิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นตำรวจ บอกหญิงรายนี้ว่า ทางฝ่ายตรวจสอบต้องการให้แสดงความเป็นเจ้าของบัญชี โดยให้บอกบัญชีทั้งหมดที่มียอดเงินล่าสุด และบัญชีไหนมี ibanking โดยเธอซึ่งยังคงตกใจกับเหตุการณ์อยู่ก็บอกปลายสายเรื่องจำนวนบัญชีไปตามจริง

จากนั้น ปลายสายแกล้งทำเป็นว่าได้รับข้อมูลการสอบบัญชีทั้งหมดแล้ว และบอกเธอว่า  "ต้องเคลียร์ให้จบ แล้วคุณจะเป็นผู้บริสุทธิ์" พร้อมขู่ว่า "ถ้าลีลาหรืออิดออด ก็จะยิ่งยืดเยื้อ และจะยิ่งไม่จบ ฉะนั้นถ้าเป็นเจ้าของจริงก็ต้องไม่ยืดเยื้อ"

หลังจากนั้น ผู้แอบอ้างยังบอกเธอว่า ทาง ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ให้โอนเงินที่มี ibanking ตัดเลขหน่วยเศษหลักร้อยทิ้ง เพื่อตรวจสอบ โดยโอนเข้าเลขบัญชีกลางของธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี น.ส.ประครอง บุญฤทธิ์เดช

เปิดทุกสเต็ป \"มิจฉาชีพ\" อ้างเป็นตำรวจหลอกให้โอนเงิน สูญเกือบ 3 ล้านบาท

เปิดทุกสเต็ป \"มิจฉาชีพ\" อ้างเป็นตำรวจหลอกให้โอนเงิน สูญเกือบ 3 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้เหยื่อรู้สึกแปลกใจและถามว่าชื่อคนนี้ (บัญชีผู้รับโอน) คือใคร มิจฉาชีพที่อ้างเป็นตำรวจบอกว่า เป็นพนักงานธ.กสิกรไทยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเงิน เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจะโอนคืน

จากนั้น เหยื่อถามปลายสายว่า แล้วจะทราบได้ยังไงว่าจะได้คืน ผู้แอบอ้างเป็นตำรวจก็บอกว่า "ก็ผมอยู่ตรงนี้แหละ ที่ผ่านมา ก็กระบวนการแบบนี้และได้คืนหมด ไม่ต้องห่วง"

เหยื่อเปิดเผยว่า ขณะนั้นยอมทำตาม เพราะเชื่อว่าปลายสายเป็นตำรวจจริงเลยไม่สงสัยและโอนเงินให้บัญชีนั้น เป็นจำนวนเกือบ 3 ล้านบาท

ระหว่างรอเงินคืน มิจฉาชีพยังโทรผ่านไลน์บอกเธอว่าต้องการให้โอนเงินเพิ่มอีก โดยอ้าง ปปง.ต้องการตรวจสอบบัญชีทั้งหมด และให้ไปหาทางโอนที่ธนาคารให้ได้ ซึ่งเธอปฏิเสธ แต่สุดท้าย มิจฉาชีพก็หายไปพร้อมกับเงินเกือบ 3 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ได้รวบรวมลูกไม้ในการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ได้รู้ทันกลลวงและลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะในช่วงเงินทองหายากเช่นนี้

1. แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จาก "ไปรษณีย์ไทย"

มุกที่มาในคราบของบุรุษไปรษณีย์ปลอม เรียกเก็บค่าพัสดุปลายทาง หรือหลอกให้เซ็นรับพัสดุที่มีสิ่งผิดกฎหมาย ก่อนหาพวกรับบทตำรวจมาตรวจสอบเพื่อเอาผิด และเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการขนส่งต่างๆ ที่ไม่ใช่นโยบายของไปรษณีย์ไทย

2. แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ

ถ้าพบคนที่ถือบิลค่าไฟมาเรียกเก็บตามบ้าน สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่านี่คือเจ้าหนี้ที่ปลอม หากมีการเรียกเก็บเงินค่าไฟหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการไฟฟ้าฯ ส่วนใดก็ตาม อย่าจ่ายเงิน เพราะการไฟฟ้านครหลวงได้ออกมาให้ข้อมูลว่าไม่มีนโยบายเก็บเงินตามบ้าน หากต้องการจ่ายค่าไฟฟ้าจะต้องจ่ายกับช่องทางต่างๆ ของการไฟฟ้าฯ หรือหากมีข้อสงสัยให้สอบถามจากหน่วยงานโดยตรงเท่านั้น

3. หลอกโอนเงิน "จองวัคซีนโมเดอร์นา"

มิจฉาชีพเหล่านี้อาศัยความไม่รู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่สามารถจัดสรรวัคซีนมาให้ฉีดได้เร็ว ก่อนให้โอนเงินเพื่อจองวัคซีนและหนีหายเข้ากลีบเมฆ ฉะนั้นสำหรับคนที่ต้องการจองวัคซีนทางเลือก อย่าหลงกลคนที่มาแอบอ้างในลักษณะนี้ ให้ติดต่อกับทางโรงพยาบาลที่เปิดให้จองโดยตรงเท่านั้น

4. ขายใบนัดปลอม!

ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนที่เป็นผลพวงมาจากการจัดสรรที่ล่าช้าของรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งช่องว่างที่ทำให้มิจฉาชีพเหล่านี้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว 

อีกหนึ่งมุกที่มากับวัคซีนโควิด คือการทำใบนัดปลอมอ้างชื่อ รพ.ศิริราช เพื่อเรียกเก็บเงินค่าฉีดวัคซีนจากประชาชน ใครที่ได้รับเอกสารเหล่านี้ที่มาจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลออกให้ อย่าเพิ่งเชื่อ และรีบตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางโรงพยาบาลที่ถูกแอบอ้างชื่อทันที

5. หลอกกด SMS รับเงิน เช่น เงินเดือน เงินรางวัล

ช่วงที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมหละหลวมจน SMS มิจฉาชีพยิงตรงเข้าโทรศัพท์มือถือถี่ยิบ ส่งข้อความหลอกให้อยากกดลิงก์ที่แนบมา ไม่ว่าจะเป็น

"เงินเดือน 2,000 บาท โอนเข้าบัญชีเรียบร้อย"
"ยินดีด้วยคุณได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท" 
"โครงการเราชนะ ลงทะเบียนเพิ่มข้อมูลที่ลิงก์..."
ฯลฯ

หลังจากที่พลั้งมือกดเข้าไปที่ลิงก์ และดำเนินการตามขั้นตอนข้อมูลที่ปรากฏ ข้อมูลของเราก็จะถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ ที่อาจนำไปสู่การสูญเงินในภายหลังได้ไม่ยาก ดังนั้นเมื่อได้รับข้อความเหล่านี้ให้ไตร่ตรองก่อนเปิดอ่านหรือกดลิงก์ และหากพิจารณาแล้วว่า "ปลอม" อย่าลืมที่จะกำจัดมันออกจากมือถือไปให้เร็วที่สุดด้วย

6. หลอกกดรับสิทธิเงินกู้จาก "SAM" (บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด)

SAM  หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นผู้ให้บริการ "คลินิกแก้หนี้" ที่ช่วยให้ประชาชนที่มีหนี้เสียสามารถปลดหนี้ได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ SAM ไม่มีโครงการ "ปล่อยกู้" ออนไลน์แต่อย่างใด

ดังนั้นใครก็ตามที่ได้รับ SMS ให้ "กู้เงิน" หรือ "ให้สินเชื่อ" จาก SAM สันนิษฐานไว้เลยว่าปลอม ไม่คลิกลิงก์ใดๆ รีบลบข้อความทิ้ง หรือรีบสอบถามข้อเท็จจริงจาก SAM โดยตรงตามช่องทางต่างๆ ให้แน่ใจก่อนจะให้ข้อมูลทุกครั้ง

7. หลอกให้กรอกข้อมูลรับเงินเยียวยาจาก "ประกันสังคม"

มิจฉาชีพจะส่ง google form และส่งข้อความผ่าน SMS ปลอมให้ผู้ประกันตนแจ้งความประสงค์รับเงินเยียวยา เพื่อหลอกสอบถามข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประจําตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ฯลฯ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ 

โดย สำนักงานประกันสังคมออกมาเตือนว่าอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยให้สอบถามที่สายด่วน สำนักงานประกันสังคมโดยตรง หรือโทร 1506 เท่านั้น

8. SMS หลอกให้กรอกข้อมูลเพื่อรับสิทธิโครงการรัฐ

ช่วงโควิด-19 ที่รัฐออกมาให้เงินเยียวยาต่างๆ ก็มีประชาชนได้รับ SMS พร้อมลิงก์ เพื่อให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขบัตรเครดิต ให้ใส่รหัส OTP หรือให้กรอกข้อมูลต่างๆ โดยอ้างว่ามาจากหน่วยงานรัฐ

ใครที่ได้รับ SMS ลักษณะนี้ที่มาจากเบอร์แปลกๆ ชื่อแปลก รีบเช็คกับหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้แน่ใจ อย่าเปิดลิงก์ดังกล่าว หรือกรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด แจ้ง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 (24 ชั่วโมง)