TTB กางแผนเล็งรุกดิจิทัล หวังปั้มรายได้ปี65โต

TTB  กางแผนเล็งรุกดิจิทัล หวังปั้มรายได้ปี65โต

“ทีทีบี”ปรับกลยุทธ์ รุกดิจิทัลอัพรายได้ปี 65 บน โมบายแบงก์กิ้งแฟลตฟอร์มใหม่ เล็งเปิดตัวไตรมาส 1/65 มั่นใจสินเชื่อโค้งสุดท้ายปีนี้โตต่อเนื่องถึงปีหน้า ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ คาดเอ็นพีแอลไตรมาส 4 /64 ส่อพุ่ง ยันคุมไม่เกิน 3.6% 

นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า  ธนาคารวางกลยุทธ์ช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้และปี2565 โดยมุ่งเน้นสร้างรายได้เพิ่มหลังควบรวมกิจการสำเร็จ ผ่านการสร้างศักยภาพด้าน Digital-first 0perating model บนโมบายแบงก์กิ้งแฟลตฟอร์มใหม่ ซึ่งคาดจะสามารถเปิดตัวได้ในไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบ   

"ปีหน้าจะเห็นธนาคารปรับกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน สินเชื่อและบริการใหม่ๆ บนดิจิทัล โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้ชัดมากขึ้น  ปัจจุบันกว่า 99% ของธุรกรรมธนาคารได้ให้บริการผ่านออนไลน์แบงก์กิ้ง แต่การขายอีกหลายเรื่องของธนาคารยังผ่านสาขา จึงเป็นจุดที่ธนาคารพยายามปรับปรุงมากขึ้น"    

TTB  กางแผนเล็งรุกดิจิทัล หวังปั้มรายได้ปี65โต  

สำหรับการวางเป้าหมายปรับกลยุทธ์ด้านสินเชื่อบนช่องทางดิจิทัล จะทำให้สินเชื่อของธนาคารได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2565  มีทิศทางบวกมากขึ้นและเติบโตสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจาก ไตรมาสสุดท้ายปลายปีเป็นช่วงไฮซีซั่นของการจับจ่ายใช้สอยและยังได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย รวมถึง ฉีดวัคซีนได้มากขึ้น และการเปิดประเทศ    

ส่วนสินเชื่อรวมและเงินฝากปีนี้  คาดยังทรงตัวจากปีก่อน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2564 สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ โดยหันมาขยายสินเชื่อที่มีหลักประกันในกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถยนต์ ด้านเงินฝากก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสินเชื่อ 

ส่วนสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้ลูกค้าที่อยู่เกณฑ์ดี ใน Stage 1 อาจตกลงมาอยู่ใน Stage 2 หรือ Stage 3 ซึ่งผลกระทบนี้ธนาคารได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และปรับกรอบ Stage 3 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ไม่เกิน 3.6% ปัจจุบัน NPLอยู่ที่ 2.98% ยังค่อนข้างต่ำและคุมได้ดี จึงเชื่อว่า NPL ในปีนี้ไม่เกินกรอบตั้งไว้ที่ 3.6% แน่นอน

ด้านการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปีนี้ คาดจะอยู่ในกรอบกำหนดไว้1.60-1.80%โดยไตรมาส 4 ปีนี้ยังคงมีความจำเป็นต้องตั้งสำรองสูงกว่าช่วงปกติ คาดในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ปีนี้ที่ราว 5,527 ล้านบาท เพราะสถานการณ์โควิด-19ในไตรมาส 3 ปีนี้ อาจกระทบกับการฟื้นตัวของลูกค้าอยู่