มนัญญา ถก ปปง.ขอสินทรัพย์อายัด มาหมุนหารายได้ชำระหนี้สหกรณ์รถไฟ

มนัญญา ถก ปปง.ขอสินทรัพย์อายัด มาหมุนหารายได้ชำระหนี้สหกรณ์รถไฟ

มนัญญา หารือ ปปง.ชงโมเดลบริหารสินทรัพย์อายัด 500 ล้านบาท มาสร้างรายได้ช่วยชำระหนี้สหกรณ์รถไฟค้างเต่งกว่า 2 พันล้าน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   เปิดเผยว่า ได้หารือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  เพื่อหาแนวทางการนำทรัพย์สินสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.)  ที่อยู่ระหว่างการยึดอายัดไว้ตามกหมาย ปปง. มาบริหารเพื่อให้มีรายได้คืนกลับไปยังสหกรณ์ผู้เป็นเจ้าหนี้และสมาชิกสหกรณ์เพื่อลดหนี้และเสริมสภาพคล่องสหกรณ์นั้นๆ แทนการปล่อยให้ทิ้งร้างหรือเสื่อมโทรม และกว่าจะมีการพิจารณาคดีแล้วเสร็จอาจกินเวลานาน จนบางครั้งทรัพย์เสื่อมโทรมและมูลค่าลดลง

  โดย ปปง. ยืนยันว่าตามกฎหมายสหกรณ์สามารถทำได้ แต่ขอเวลา 15 วันเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม  ซึ่งทั้งหมดจะต้องอยู่โดยความถูกต้องโปร่งใส และเรื่องนี้จะได้นำเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบ ซึ่ง กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะต้องทำรายงานเสนอทุกเดือนเพื่อให้ทราบแนวทางการแก้ไขภาคสหกรณ์ออมทรัพย์

"ในเรื่องนี้หากมีรูปแบบการบริหารที่ชัดเจนออกมาก็จะเป็นโมเดลการบริหารสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการยึดอายัดเพราะเป็นการรักษาทรัพย์ไม่ให้เสื่อมค่าด้วย กรณีแบบนี้ ปปง.ยังไม่เคยทำ แต่ในกฎหมายเปิดให้ทำได้ ซึ่งกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ มีการอายัดทั้งที่ดิน อาคารชุด และอื่นๆมูลค่าเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงมูลค่ามากกว่านั้น 

                หากโมเดลนี้สำเร็จ ปปง.สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีรายได้คืนกลับไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้มากขึ้นและไม่เป็นภาระตั้งค่าเผื่อหนี้สูญของสหกรณ์เจ้าหนี้ และจะช่วยลดเวลาและลดภาระดอกเบี้ยของสหกรณ์ลูกหนี้จนกว่าระยะเวลาคดีสิ้นสุด คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ขณะที่สหกรณ์ลูกหนี้เช่น สอ.สรฟ.ก็ จะมีสภาพคล่องในการบริการสมาชิกเพิ่มขึ้นจากภาระการชดใช้หนี้ที่ลดลง

สำหรับ สอ.สรฟ.นั้นมีหนี้ประมาณ 2,272 ล้านบาท ชำระไปแล้ว 13 ราย กว่า 100  ล้านบาท เหลืออีกกว่า  2 พันล้านบาท ซึ่งการชำระหนี้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ระหว่างสหกรณ์เจ้าหนี้และสอ.สรฟ. นอกจากนั้นจะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ไปเจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้ เพื่อลดดอกเบี้ยให้เหลือประมาณ 2%  อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันกรณีซ้ำรอยสอ.สรฟ. จึงได้มีนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง 2 -3 สหกรณ์ ทุก2 เดือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทุจริตหรือยักยอกทรัพย์

                นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับ สอ.สรฟ. นั่นหลังมีการยึดอายัดทรัพย์ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้สอบสวนพบพฤติกรรมผู้ร่วมกระทำผิดกับอดีตกรรมการสหกรณ์ที่ได้มีการยื่นฟ้องก่อนหน้า9 คน เป็น 15 คน เนื่องจากพบการโอนเงินเชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันระบบสหกรณ์ทั้งหมดไม่ให้ซ้ำรอยสอ.สรฟ. กรมได้ร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ที่ต้องเฝ้าระวังให้ถี่ขึ้นโดยไม่รอรอบบัญชี ปัจจุบันได้มีการดำเนินคดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์  1-2 แห่ง สหกรณ์การเกษตร 3-4   แห่ง