‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.31บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.31บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ และผันผวนตามฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นทำกำไร มองกรอบเงินบาทวันนี้33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(2พ.ย.) ที่ระดับ  33.31 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ซึ่งเราคาดว่าผู้เล่นต่างรอคอยที่จะขายทำกำไร หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญความผันผวนได้จากแรงขายทำกำไรหุ้นไทยออกมาบ้าง เนื่องจากเราเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการลงทุนในไทยไปก่อน จนกว่าจะมองภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการทยอยเปิดประเทศในเดือนนี้ ได้อย่างชัดเจนก่อน 

อีกทั้งในระยะนี้ นักลงทุนต่างชาติมีตัวเลือกที่หลากหลายในการลงทุนโซนเอเชียหรืออาเซียน เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นต้น ทำให้โดยรวมฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติยังมีความผันผวนและไม่ได้มีทิศทางการไหลเข้าหรือออกของฟันด์โฟลว์ที่ชัดเจน

ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ 

ตลาดการเงิน โดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ จากแรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กว่า 80% ของบริษัทที่ได้ประกาศงบการเงินนั้นมีผลประกอบการดีกว่าคาด 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนตุลาคม ที่แม้ว่าจะลดลงแตะระดับ 60.8 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัวของภาคการผลิต) จาก 61.1 จุดในเดือนก่อน แต่ก็ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้ ดัชนีS&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.18% ส่วนหุ้นเทคฯ ก็ปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า+0.63% 

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวขึ้น +0.7% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทโดยรวมที่ยังออกมาดี ส่งผลให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ กลุ่มธนาคาร BNP Paribas +3.0%, ING +2.1% หรือกลุ่มยานยนต์ Daimler +2.1%, BMW +1.2% เป็นต้น ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นยุโรปยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ จากแรงหนุนผลประกอบการ รวมถึง แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.57% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจน ซึ่งเราคาดว่า หากเฟดประกาศลดคิวอีตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เราอาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเล็กน้อยได้เนื่องจากตลาดรับรู้การลดคิวอีไปมากแล้ว แต่หากเฟดส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นและกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อ มีโอกาสที่อาจจะเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงตามความกังวลของตลาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นพร้อมกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง หรือ ตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 93.93 จุด อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า เงินดอลลาร์จะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯอยู่ โดยเรามองว่าแนวรับของดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) จะอยู่ในกรอบ 93.75-93.80 จุด และเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ หากเฟดส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ทรงตัวอยู่นั้น ได้ช่วยให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง หากราคาทองคำปรับตัวใกล้ระดับดังกล่าว

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ว่าจะมีมุมมองต่อนโยบายการเงินอย่างไรหลังบอนด์ยีลด์ 3 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.22% สูงกว่า เป้าหมายของ RBA ที่ 0.10% ไปมาก และสะท้อนมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า RBA อาจขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้ง 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่า RBA จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% แต่อาจยกเลิกการคุมระดับบอนด์ยีลด์ 3 ปี เพื่อเป็นการทยอยปรับมุมมองของตลาดให้เริ่มรับรู้แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของ RBA ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของ RBA อาจมีส่วนช่วยหนุนให้ ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) แข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง หลังจากแกว่งตัวในกรอบ sideways มาสักระยะ แต่มองว่า AUD จะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะโดยรวมภาพเศรษฐกิจออสเตรเลียยังถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอยู่

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ตลาดจะยังคงจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราคงมองว่า งบการเงินโดยรวมที่มีแนวโน้มออกมาแข็งแกร่งจะยังสามารถช่วยหนุนให้ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงได้