“กรมธุรกิจพลังงาน” เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 9 เดือน ลดลง5.2%

“กรมธุรกิจพลังงาน” เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 9 เดือน ลดลง5.2%

“กรมธุรกิจพลังงาน” เผยสถิติการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 9 เดือนของปี 2564 (มกราคม-กันยายน) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2% เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 9 เดือนของปี 2564 (มกราคม-กันยายน) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.2 โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงร้อยละ 45.8 กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 8.9 กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 6.1 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 สำหรับการใช้ NGV ลดลงร้อยละ 19.5 

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-กันยายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 28.39 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 8.9) เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่า ลดลงมาอยู่ที่ 27.72 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 8.7) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 6.81 ล้านลิตร/วัน 14.54 ล้านลิตร/วัน 5.64 ล้านลิตร/วัน และ 0.73 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ สำหรับการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.67 ล้านลิตร/วัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนกันยายน 2564 พบว่า การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 27.25 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 24.52 ล้านลิตร/วัน) (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.1) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกชนิดน้ำมัน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด บางกิจกรรมจึงสามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรค และให้รวมกลุ่มได้ไม่เกิน 25 คน แต่ยังคงมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 – 04.00 น. (มีผลถึง 30 กันยายน 2564) จึงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น

อ่านข่าว : "พลังงาน" แจงปม "ราคาน้ำมันทำไมถึงแพง"

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-กันยายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 61.09 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 6.1) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 35.23 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 21.4) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22.64 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 1.06 ล้านลิตร/วัน

สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉพาะเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 54.14 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 (ลดลง ร้อยละ 15.9) เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.31 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 45.8) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศคลายล็อคดาวน์ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 ส่งผลให้การใช้น้ำมัน Jet A1 ในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 4.04 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 3.44 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.4)

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.59 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.5) เนื่องจาก

การใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.49 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.8) และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.83 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.3) สำหรับภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.58 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1) อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.68 ล้านกก./วัน (ลดลง ร้อยละ 17.8)

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.10 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 19.5) โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-กันยายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 889,936 บาร์เรล/วัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 1.0) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 854,161 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 0.2) อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55,325 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.7)

สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) ลดลงมาอยู่ที่ 35,775 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 17.2) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,247 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.8) มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-กันยายน 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 195,666 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,458 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.2)