2ปีโควิดทุบค้าปลีกสูญ8แสนล้าน! ชง"7 S Recovery"ข้ามช็อตเร่งฟื้นเศรษฐกิจ

2ปีโควิดทุบค้าปลีกสูญ8แสนล้าน! ชง"7 S Recovery"ข้ามช็อตเร่งฟื้นเศรษฐกิจ

ห้วงเวลานี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ! ที่ต้องจับตามองว่าจะเป็นโค้งสุดท้ายของวิกฤติโควิด พร้อมเปิดประเทศ 1 พ.ย. ต้อนรับผู้มาเยือน หรือการเดินทางระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังหยุดชะงักมานานเกือบ 2 ปี นำสู่โค้งแรกแห่ง"ความหวังใหม่"ของเศรษฐกิจไทยหรือไม่?

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจไทย คนไทยติดเชื้อรวมกว่า 1.85 ล้านราย ธุรกิจค้าปลีกและบริการ สูญเม็ดเงินกว่า 8 แสนล้านบาท! มีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) และแรงงานนอกระบบ เพิ่มขึ้น 3.2 ล้านคน หนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เงินออมและเงินในกระเป๋าทุกภาคส่วนร่อยหรอลง

"เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน มีแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกและกว้าง รัฐบาลต้องเร่งเครื่องผลักดันเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็วจากตัวเลขติดลบต่อเนื่อง เรากำลังเข้าสู่เฮือกสุดท้าย! การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นต้องลงมือทำทันที"

รัฐต้องวางกลยุทธ์ระยะสั้น-ระยะยาว เริ่มจากกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนไปจนถึงการวางรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน โดย สมาคมฯ เสนอแนวทาง “7 S Recovery” ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเร่งด่วน ประกอบด้วย 

2ปีโควิดทุบค้าปลีกสูญ8แสนล้าน! ชง\"7 S Recovery\"ข้ามช็อตเร่งฟื้นเศรษฐกิจ

"Stimulus Consumption"  ประเทศไทยขณะนี้ต้องการการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระบบไม่ใช่แค่เยียวยา ต้องเป็นการฟื้นฟูให้ลุกขึ้นมาเดินหน้าธุรกิจ ก้าวแรกจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างรวดเร็ว ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้คนไทย เที่ยวไทย ใช้ของไทย 

เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และนำ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้โดยเพิ่มวงเงินเป็น 2 แสนบาท ในช่วงไฮซีซันเดือน ธ.ค.ต่อเนื่อง ก.พ.ปีหน้า พร้อมนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่ ธ.ค.2564-มิ.ย.2565 เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค

"เชื่อว่า S แรกนี้จะสร้างเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.2565 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของจีดีพี" 

“Support Employment” วิกฤติโควิดส่งผลกระทบรุนแรงต่อการจ้างงาน โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการที่มีการจ้างงานกว่า 11.2 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ คาดว่าแรงงานในกลุ่มนี้จะมีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน ไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านคน ภาครัฐต้องมีมาตรการรักษาการจ้างงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง

การทดลองใช้การจ้างงานแบบรายชั่วโมงให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา เริ่มจากธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร มีมาตรการ Upskill Reskill และ New Skill แก่แรงงานเพื่อให้มีทักษะตรงตามความต้องการ และส่งเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์

“Strengthen SME” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ 44.58% อยู่ในภาคการค้าปลีก 35.73% อยู่ในภาคบริการ อาหารและเครื่องดื่ม รัฐต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอย่างเร่งด่วน เพื่อพยุงเอสเอ็มอีเหล่านี้ให้อยู่รอดโดยเฉพาะรายเล็กที่เข้าถึงแหล่งทุนยากกว่ารายใหญ่ มีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพื่อให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว รักษาระดับการจ้างงาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง

“Speed Up Digital Economy” รัฐบาลต้องลดกฎระเบียบและพัฒนาระบบ Cloud Computing, AI และ Data Center ให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างวงจรบวกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ผู้ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์ เพราะทักษะดิจิทัลสำคัญที่สุดในขณะนี้

“Simplify Regulation” ปรับกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่ช่วยให้ประกอบธุรกิจง่ายและสะดวกมากขึ้น (Ease of Doing Business) จะช่วยลดต้นทุน ลดค่าเสียโอกาสของธุรกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของจีดีพี เป็นการฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

“Sustainable Public Health” ระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและละเลยไม่ได้! โดยรัฐต้อง Monitoring ควบคุม และระมัดระวังการแพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีและตรงจุด เช่น หากเปิดประเทศแล้วมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขอให้พิจารณาล็อกดาวน์พื้นที่ที่เกิดการแพร่กระจายของโรคโดยไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ มีการ Protection ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข  รัฐต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส อย่างน้อย 70% ของประชาชนไทยเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือเร่งฉีดให้ครบโดสในพื้นที่จังหวัดนำร่องการเปิดประเทศที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ที่สำคัญ ประชาชนการ์ดต้องไม่ตก และต้องเคร่งครัดมาตรฐานด้านสุขอนามัยแบบ Universal Prevention

“Spike Up Private Investment” ภาครัฐต้องมีการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน ช่วยให้การบริโภคของประชาชนขยายตัวได้ทันที นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

"การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องมองข้ามช็อตถึงอนาคต มากกว่าการพึ่งพาการเยียวยาเพียงอย่างเดียว ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลยุทธ์ที่เข้มแข็ง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไม่ประมาทบนมาตรการความปลอดภัย เพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เศรษฐกิจ ้กลับมาคึกคัก พร้อมเปิดประเทศต้อนรับทุกคน”