สมาคมภัตตาคารไทย ลุ้นกทม.เคาะขายเหล้าเบียร์ นำร่องร้านมาตรฐาน SHA

สมาคมภัตตาคารไทย ลุ้นกทม.เคาะขายเหล้าเบียร์ นำร่องร้านมาตรฐาน SHA

ส.ภัตตาคารไทย เผยผู้ว่าฯ ‘อัศวิน ขวัญเมือง’ รับลูกพิจารณาร้านอาหาร ภัตตาคารไทยที่มีมาตรฐาน SHA เพื่อยกเลิกห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หนุนเปิดเมือง ฟื้นรายได้ผู้ประกอบการ หลังเหล้าเบียร์ทำเงินสัดส่วนราว 20%

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงมาตรการผ่อนคลายให้ร้านอาหาร ภัตตาคารสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรับการเปิดประเศ เบื้องต้น ผู้ว่าฯ ยังไม่เห็นด้วยกับการให้ร้านอาหารทั้งหมดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะยังกังวลกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับที่ผ่านมา เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มักเกิดบทเรียนการแพร่ระบาดระลอกใหม่

ทั้งนี้ หากจะผ่อนคลายให้ร้านอาหาร ภัตตาคารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จะเป็นพื้นที่สีฟ้า(ฺBlue Zone) รวมถึงร้านที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสำหรับกิจการด้านการท่องเที่ยว SHA และ SHA+ ซึ่งพนักงานผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 2 เข็มเกินกว่า 90%

สำหรับร้านอาหารและภัตตาคารในพพื้นที่กรุงเทพฯมีจำนวนมาก เบื้องต้นร้านที่มีมาตรฐาน SHA และ SHA+ มีราว 3,000 แห่ง แต่การกรอกข้อมูลดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน โดยมีร้านที่ได้มาตรฐานและยังไม่แจ้งในระบบจำนวนไม่น้อย เช่น เครือข่ายร้านอาหาร(เชน)บางแบรนด์มี 200 สาขา แต่ให้ข้อมูลในระบบเพียง 17 สาขา รวมถึงห้างค้าปลีกที่มีร้านอาหารนับร้อยภายในศูนย์การค้า จะนับเพียง 1 สาขา เป็นต้น

“ร้านอาหารในพื้นที่สีฟ้าตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอรัฐบาล ควรได้รับการผ่อนคลายจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่อำนาจการตัดสินใจยังต้องรอให้คณะกรรมการโรคติดต่อของกทม.เสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019หรือศบค.ชุดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ว่าฯ ที่ผ่านมามีบทเรียนหลายแบบเกิดขึ้น แต่สมาคมโรงแรม ภัตตาคาร ที่ทำมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทั้ง SHA Covid Free Setting ฯ ก็ควรได้รับการผ่อนคลาย โดยสมาคมฯจะหารือกับทีมงานของผู้ว่าฯอีกครั้งวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ซึ่งคาดหวังจะมีข่าวดี”

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีร้านอาหารจำนวนหนึ่งที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ลูกค้า แต่หน่วยงานรัฐมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะทำการจับกุม ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นจิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้ประกอบการด้วย เพราะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้าน มีการนั่งติดกัน และมีโอกาสแพร่ไวรัสได้

“การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านกับร้านอาหารต่่างกัน ร้านอาหารคือที่สาธารณะเพื่อการค้า จึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสจากโต๊ะอื่น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคารมีทำรายได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัดส่วนไม่เกิน 20%”

 นางฐนิวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ยังเดือดร้อนไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ควรรวมตัวกันและวางแผนเผชิญเหตุไวรัส เพื่อหารือกับภาครัฐ และเตรียมความพร้อมก่อนกลับมาเปิดให้บริการ สร้างความปลอดภัยร่วมกัน