สารพัดปัจจัย รุมเร้าเศรษฐกิจไทย

สารพัดปัจจัย รุมเร้าเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ไทยกำลังจะเปิดประเทศในต้นเดือนหน้า เศรษฐกิจกลับต้องเผชิญกับสารพัดปัจจัยรุมเร้า ไม่ว่าจะเรื่องราคาน้ำมันแพง กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ทำให้แผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้อาจประสบกับความยากลำบาก

การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยาวนานเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยกระทบกับสังคมทุกระดับ ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มชนชั้นกลาง และกลุ่มฐานราก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย กว่าที่ทุกอย่างกลับมาอยู่ในระดับปกติ

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดหนักในรอบ 20 ปี โดยไตรมาส 2 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยต้องติดลบถึง 12.2% ถึงแม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่เพียงพอ

ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเมื่อเดือน ม.ค.2563 นับถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรวม 1.85 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลต้องจัดงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อควบคุมการระบาด เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.ถึง 2 ฉบับ เพื่อดำเนินการกู้เงินมาใช้ดำเนินการดังกล่าว รวมมีวงเงินกู้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท และยังไม่รวมงบประมาณปกติและงบกลางที่รัฐบาลต้องปรับมาใช้สำหรับสถานการณ์การระบาดในช่วงที่ผ่านมา

รัฐบาลมีความพยายามที่จะคลายล็อกดาวน์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติได้มากที่สุด โดยเฉพาะการประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจาก 46 ประเทศ สามารถเดินทางเข้ามาได้แบบไม่ต้องกักตัว เพื่อไปเที่ยวในเมืองที่มีความพร้อม โดยจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น เพื่อชดเชยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่หายไปเกือบ 100% ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่การระบาดเริ่มคลี่คลายเมื่อเทียบ 2 เดือนที่ผ่านมา

การระบาดในหลายประเทศดีขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญศึกจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ โดยทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวและมีผลต่อเนื่องให้ความต้องการบริโภคสูงขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำกว่าบาร์เรลละ 30 ดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมามากกว่า 80 ดอลลาร์ในปีนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับที่ภาครัฐจะต้องออกมากำหนดมาตรการ เพื่อไม่ให้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีราคาสูงไปกว่าลิตรละ 30 บาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อรายจ่ายและกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มลดลงในภาวะที่รัฐบาลต้องการแรงผลักดันจากเครื่องจักรทุกตัวเพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยว

แน่นอนว่าเมื่อประเทศไทยเจอสถานการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจทำได้ยากมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ให้รัฐบาลต้องหาแนวทางบริหารเศรษฐกิจ เพื่อให้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้