แบงก์เบรกปล่อยกู้ไฮสปีด “ซีพี” แผนขอสินเชื่อ 1.7 แสนล้าน ชะงัก

แบงก์เบรกปล่อยกู้ไฮสปีด “ซีพี” แผนขอสินเชื่อ 1.7 แสนล้าน ชะงัก

“ร.ฟ.ท.-ซีพี” เดินหน้าแก้สัญญารถไฟความเร็วสูง เยียวยาผลกระทบโควิด ยืดจ่ายค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็น 6 ปี เร่งแก้สัญญา 3 เดือนจบ เผยแบงก์เบรกปล่อยกู้ ยก 3 เหตุผล แอร์พอร์ตลิงก์ซบเซา รัฐบาลหนุนอีอีซีลดลง ซีพีกู้ชนเพดานแล้ว

กระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นข้อเสนอมาจากบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่ระบุถึงผลกระทบของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากการระบาดขงโรคโควิด-19 จึงขอปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ทั้งนี้ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้ยื่นข้อเสนอ 3 แนวทางที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โดยเฉพาะประเด็นการขยายระยะเวลาจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากเดิมที่ต้องชำระเต็มจำนวน 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564

แหล่งข่าว กล่าวว่า ภายหลังจาก ครม.เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ในวันที่ 20 ต.ค.2564 เรื่องการบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้ามีความต่อเนื่องในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และให้บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เข้ามาเดินรถไฟฟ้าได้ในวันที่ 25 ต.ค.2564

รายงานข่าวระบุว่า บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด มีปัญหาในการเจรจาขอสินเชื่อเพื่อลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยได้รับการชี้แจงจากสถาบันเงิน 3 ประเด็น สำคัญ คือ

1.โครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์มีปัญหาซบเซา จำนวนผู้โดยสารน้อยลงจากผลกระทบของโควิด-19 โดยจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยล่าสุดลดเหลือวันละ 9,000 คน จากช่วงก่อนการระบาดมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 70,000 คน 

2.รัฐบาลให้การสนับสนุนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

3.อัตราหนี้ของกลุ่มซีพีชนเพดาน หลังจากที่ผ่านมาธุรกิจในเครือมีการกู้เงินเพื่อลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะการซื้อกิจการของเทสโก้ในประเทศไทยและมาเลเซีย 338,445 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวกลุ่มซีพีใช้ทั้งกระแสเงินสดของบริษัทในกลุ่มซีพีและการกู้เงิน

สำหรับมูลค่าหนี้สินของบริษัทสำคัญในเครือซีพี รวม 1.6 ล้านล้านบาท แบ่ง 2 ส่วน คือ

1.บริษัทเครือเจิญโภคภัณฑ์ จำกัด 96,508 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563

2.บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลไตรมาส 2 ปี 2564 ประกอบด้วย CPF 509,450 ล้านบาท , CPAll 404,400 ล้านบาท , True 544,333 ล้านบาท และ Makro 47,274 ล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กลุ่มซีพีต้องยื่นกู้เงินจากธนาคารสัดส่วน 80% ของมูลค่าโครงการที่ 2.2 แสนล้านบาท หรือต้องกู้ราว 1.7 แสนล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ในช่วงที่มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 79,000 คน แต่โควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดลงและจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 9,000 คน จึงทำให้เอกชนคู่สัญญาขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาว่าในสัญญาเข้าข่ายให้มีการเยียวยาหรือไม่

ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาครั้งนี้จะแก้ไขเฉพาะจุด และเมื่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นชอบรายละเอียดส่วนที่จะแก้ไขสัญญาจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนลงนามแก้ไขสัญญา

นายคณิศ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพิจารณาการเยียวยาผลกระทบพบว่ามีความเป็นเพราะบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จํากัด ไม่ได้จัดงบประมาณสำหรับบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์หลังวันที่ 25 ต.ค.เป็นต้นไป รวมทั้งเอกชนคู่สัญญาได้เข้ามารับถ่ายทอดงานบริหารโครงการแล้ว 80% จึงทำให้การรับหน้าที่เดินรถไฟฟ้าต่อไม่มีปัญหา