เปิดสถิติ พอร์ต “หนี้เสีย” สะสม 10 ธนาคาร

เปิดสถิติ พอร์ต “หนี้เสีย” สะสม 10 ธนาคาร

เปิดสถิติ “หนี้เสีย” 10แบงก์ใหญ่ พบแบงก์ที่มีหนี้เสียสะสมมากสุด 3 อันดับแรก คือ BBL ตามด้วย SCB และKTB ด้านโบรกยังประเมิน “หนี้เสีย”ยังเป็นปัจจัยท้าทาย สำหรับการดำเนินธุรกิจปีหน้า หลังหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน หลังเอสเอ็มอี รายย่อยยังเปราะบาง

       เปิดสถิติ พอร์ต “หนี้เสีย” สะสม 10 ธนาคาร ปิดงบเป็นที่เรียบร้อย สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร ไตรมาส 3ปี 2564

     โดยไตรมาสนี้ กลุ่มแบงก์โดยรวมถือว่า ทำผลงานได้ดีขึ้น จากภาระการตั้งสำรองที่ลดลง หลังจากปีก่อนหน้าได้ตั้งเผื่อไว้แล้วค่อนข้างมาก 
     แต่ขณะเดียวกัน ในไตรมาสนี้ ก็ยังคงมีตัวเลขที่ “น่าห่วง” และยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง หรือ ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ “เอ็นพีแอล” ของระบบแบงก์  ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
      ทั้งนี้ หากดูหนี้เสียรวมของ 10ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) ธนาคารทิสโก้(TISCO)ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) 

       โดยหนี้เสียโดยรวมของทั้ง 10แบงก์ อยู่ที่ 555,932 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นมา 6.14% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน     

 หนี้เสียสะสม3อันดับแรก!   

  โดยธนาคารที่มีหนี้เสียสะสมมากที่สุดในบรรดา 10แบงก์ อันดับแรกคือ BBL โดยมีหนี้เสีย ณ สิ้นไตรมาส 3อยู่ที่ 112,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.35% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 
      ขณะที่หากคิดเป็นสัดส่วนหากเทียบกับสินเชื่อรวม หนี้เสียอยู่ที่ 3.7%  ลดลงหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 4.09%
     ถัดมาคือ SCB มีหนี้เสียสะสมอยู่ที่ 107,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.09%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อโดยรวม อยู่ที่ 3.89 % จาก 3.79  % ณ ไตรมาส2 และ เพิ่มขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.32 % 
     ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

      และสินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่ตามปกติของสินเชื่อรถยนต์หลังมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ธนาคารบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การขายสินเชื่อด้อยคุณภาพและการตัดหนี้สูญ จากมาตรการการช่วยเหลือขอธปท. 
    ถัดมาคือ KTB  ที่ 106,367 ล้านบาท ลดลง 3.88% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่หากดูสัดส่วนพบว่าเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.57 % ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ 4.21%  

     โดยธนาคารระบุว่า หนี้เสียที่ลดลงเป็นผลมาจาก การคุมหนี้เสียให้อยู่ในระดับที่ดี และการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

     ขณะที่ KBANK หนี้เสียสะสมอยู่ที่  105,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.50% หากคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 3.85% ปรับลดลงหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ 3.95% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด 
      ถัดมา BAY  มีหนี้เสียสะสมอยู่ที่ 48,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.14%  หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียที่ 2.27% เพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.24%

     ขณะที่ TTB มีหนี้เสียสะสมไตรมาสนี้ที่  44,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.86% หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียที่ 2.98% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 2.33%

      ซึ่งมาจากฐานสินเชื่อที่ชะลอตัวจึงทำให้สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมขยับขึ้น แต่โดยรวมยังคงเป็นไปตามแผนบริหารจัดการหนี้เสียและอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้  
     ด้าน KKP  มีหนี้เสียสะสมอยู่ที่ 10,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.64% หรือคิดเป็นหนี้เสียราว 3.5% เพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.9%

    ถัดมาคือ CIMBT  มีหนี้เสียอยู่ที่ 9,614 ล้านบาท ลดลง 31.07% ซึ่งหากดูสัดส่วนหนี้เสียพบว่าลดลงมาอยู่ที่ 4.4% จาก 5.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

    โดยหนี้เสียที่ลดลงมา มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้ของธนาคาร
     ส่วน  TISCO มีหนี้เสียสะสมอยู่ที่ 6,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.99% หากคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียเทียบกับสินเชื่อพบว่าอยู่ที่ 2.98% เพิ่มขึ้น จาก 2.63% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสุดท้ายคือ LFHG  โดยมีหนี้เสียสะสมที่ 5,185 ล้านบาท ลดลง 3.57% ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียพบว่าลดลงมาอยู่ที่ 2.7% จาก 2.8% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

จับตาหนี้เสียปี 65 หลังหมดมาตรการช่วยเหลือ
     ด้านนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน กล่าวว่า คาดการณ์ผลกำไรของแบงก์น่าจะอยู่ในระดับที่ดี โดยคาดทั้งปีอยู่ที่1.7 แสนล้านบาท และอาจไปแตะระดับ 1.72-1.73 แสนล้านบาท หรือโต 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 
     เหล่านี้ก็สะท้อนว่ากลุ่มแบงก์ได้รีบาวน์ และพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนสำรองทั้งปีคาดอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 3.38 แสนล้านบา และคาดลดต่อเนื่องเหลือ 1.9 แสนล้านบาทในปีหน้า
      แต่อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า ยังมีสิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดและถือเป็นความท้ายทายของแบงก์ค่อนข้างมาก คือ “หนี้เสีย” ที่จะเป็นอุปสรรคหลักของแบงก์ ในการดำเนินธุรกิจ เพราะหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือ

    หนี้เสียในระบบอาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะหนี้เสียในกลุ่มเสอเอ็มอี และรายย่อย ที่คุณภาพลูกหนี้ยังเปราะบาง