ม.ร.ว.ดิศนัดดา นักคิด - นักพัฒนา ผู้น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่พัฒนาที่ยั่งยืน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา นักคิด - นักพัฒนา ผู้น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่พัฒนาที่ยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 50 ปีในการทำงานด้านการพัฒนาของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ตั้งแต่การเป็นกำลังหลักในการฟื้นเขาหัวโล้นดอยตุง มาถึงการตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ ขยายแนวทางศาสตร์พระราชา ไปยังพื้นที่ต้นแบบ แก้ปัญหาจ.น่าน ถึงชายแดนใต้ ขับเคลื่อนสู่ประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างคุณประโยชน์ฝากไว้บนแผ่นดินไทยในหลากหลายด้าน มีผลงานให้ประจักษ์มากมายหลายวงการ

แนวคิดในงานพัฒนาของท่านได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งใน และต่างประเทศ ด้วยเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มที่เฉียบคม มีบุคลิกที่โดดเด่นเฉพาะ มีความสามารถที่จะให้แง่คิดที่ดีที่ช่วยกระตุก กระตุ้นความคิดของสังคม ที่สำคัญ ม.ร.ว.ดิศนัดดา หรือ "คุณชายดิศ" มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อส่วนรวม และบ้านเมืองมาโดยตลอด เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ทุ่มเททำงานหนัก ทุ่มเทชีวิต และจิตใจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ชนบทห่างไกล รวมถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมเสมอมา

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ประธานคณะกรรมการ และประธานคณะ  ที่ปรึกษาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

เป็นกำลังหลักในการชักนำภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนพลิกภูเขาหัวโล้นพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงรายประมาณหนึ่งแสนไร่ให้กลายเป็นผืนป่าต้นน้ำอันสมบูรณ์ ทั้งยังลดปัญหาการปลูกพืชเสพติด ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เปลี่ยนพื้นที่ดอยตุงที่แห้งแล้งและเคยเป็นเส้นทางค้าลำเลียงยาเสพติดให้เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ สร้างชื่อเสียงระดับโลก

ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำให้ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ในนามของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทยและต่างประเทศให้นำประสบการณ์การดำเนินงานไปขยายผลในหลายประเทศได้แก่ ประเทศเมียนมา ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอัฟกานิสถาน ช่วยให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะต้นแบบของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก

ม.ร.ว.ดิศนัดดา นักคิด - นักพัฒนา ผู้น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่พัฒนาที่ยั่งยืน

แนวทางการพัฒนาของดอยตุงที่นำไปขยายผลได้รับการยอมรับทั้งเรื่องการต่อสู้กับยาเสพติดและแก้ปัญหาความยากจน และสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ

นอกเหนือจากการบริหารงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ม.ร.ว.ดิศนัดดายังร่วมก่อตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิรากแก้ว และโครงการร้อยใจรักษ์เพื่อขยายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สัมฤทธิ์ผลอย่างกว้างขวาง

ในส่วนของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯมีการดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี โดยพื้นที่ต้นแบบแห่งแรกคือพื้นที่จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็น “โจทย์” ในการแก้ปัญหามากมาย ทั้งสภาพป่าเสื่อมโทรม หนี้สินของเกษตรกร และเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำ ประชาชนจำนวนมากอยู่ใต้เส้นยากจน

คุณชายดิศเคยเล่าว่าเหตุผลหนึ่งที่ปิดทองหลังพระฯเลือกน่านเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำงานเพราะป่าต้นน้ำน่านเป็นป่าที่สำคัญ ปัญหาของน่าน เป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ และคนในพื้นที่ภาคกลางไม่สามารถที่จะละเลยและมองข้ามได้ เพราะข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีส่วนประกอบจากแม่น้ำน่านกว่า 40%  

ความสำเร็จในโครงการที่จ.น่านของปิดทองหลังพระภายใต้การนำของคุณชายดิศได้นำมาสู่การขยายผลแก้ปัญหาความยากจน หนี้สิน ในชนบทอีกหลายพื้นที่ จนทำให้ตลอดการทำงาน 10 ปีของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯมีการทำงานต่อเนื่องไปใน 7 พื้นที่ต้นแบบ ครอบคลุมในพื้นที่ทุกภาคของประเทศรวมทั้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ม.ร.ว.ดิศนัดดาบอกว่าการแก้ปัญหา และพัฒนาพื้นที่ชนบทในพื้นที่ต่างๆได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องของ “ภูมิสังคม” และ “การระเบิดจากภายใน” มาเป็นหลักในการทำงาน ทุกโครงการที่เกิดขึ้นจะมีคำถามที่ง่ายแต่สำคัญสำหรับการทำงานพัฒนาในพื้นที่ชนบทก็คือ “ทำแล้วชาวบ้านได้อะไร”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา นักคิด - นักพัฒนา ผู้น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่พัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยแนวทางการทำงานในรูปแบบนี้ทำให้ผลการทำงานในระยะ 10 ปีของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯสามารถที่จะตอบปัญหาที่ว่าทำแล้วชาวบ้านได้อะไรอย่างชัดเจน โดยสรุปได้ว่าสิ่งที่ทำไปในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ 4631 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ 56,404 ไร่ มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นสะสม 1.06 แสนไร่ รายได้เฉลี่ยครัวเรือนที่เข้าโครงการเพิ่มขึ้น 134,890 บาท/ปี หรือเพิ่มขึ้น 63% มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านในกลุ่มอาชีพต่างๆ 67 กลุ่ม สินค้าชุมชนได้มาตรฐานการรับรองสินค้า/ผลิตภัณฑ์ 47 ชนิด 543ราย

ขณะที่ในภาวะที่มีการระบาดของโควิด-19 เกิดผลกระทบกับคนในม.ร.ว.ดิศนัดดาได้ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในพื้นที่ชนบทโดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯได้ทำโครงการจ้างงานในพื้นที่ชนบท เพื่อลดผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น โดยโครงการทั้ง 9 จังหวัดคาดว่า แหล่งน้ำที่จะได้รับการการซ่อมแซมและเสริมศักยภาพ 450 โครงการ 22,500 ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จะสามารถมีน้ำทำการเกษตรลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่า 3,266 บาทต่อเดือน เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 126,000 ไร่ น้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 99 ล้านลูกบาศก์เมตร และชุมชนในพื้นที่มีรายได้ 882 ล้านบาทต่อปี

ม.ร.ว.ดิศนัดดามีความเข้าใจในปัญหา และแนวทางในการพัฒนาชนบทอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสามารถถ่ายทอดแนวทางพระราชดำริ และ "ศาสตร์พระราชา" ที่ช่วยแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในชนบทที่มีโครงการอยู่ทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี 

 นอกจากให้ข้อมูลผ่านการบอกเล่า สิ่งหนึ่งที่คุณชายดิศสนับสนุนผ่านมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ คือการจัดงานสัญจรคู่ขนานให้กับสื่อมวลชน ตรงกับช่วงที่มีการจัด ครม.สัญจร เวลาที่มีการประชุม ครม.นอกสถานที่มูลนิธิฯจะพาผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลกลุ่มหนึ่งไปดูงานโครงการพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดนั้นๆหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้เรียนรู้ ได้พูดคุยกับคนในพื้นที่ ได้เห็นตัวอย่างและเรียนรู้จากสถานที่จริง เพื่อให้การนำข้อมูลออกมาเผยแพร่ให้กับสาธารณะได้ครบถ้วนถูกต้องมากที่สุด

เหมือนกับที่ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า "ถ้าผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯในส่วนกลางรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาในชนบท ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหามากมายของประเทศนี้ แล้วถ่ายทอดออกไปในวงกว้าง นโยบายการพัฒนาชนบทจะทำได้อย่างถูกทิศถูกทางมากขึ้น"

ครั้งหนึ่งในปี 2561 มี ครม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ได้พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไปดูงานศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2542 เพื่อสนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โครงการนี้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน เพิ่มรายได้ ช่วยเปลี่ยนชีวิตคนในชุมชนจากเดิมที่ขึ้นชื่อเรื่องความแห้งแล้ง ไม่มีนา ไม่มีข้าว มาเป็นชุมชนที่มีรายได้พอเพียงและไม่มีหนี้สิน

ด้วยประสบการณ์ ความรู้ในฐานะคนที่ทำงานพัฒนาชนบทโดยใช้ศาสตร์พระราชา และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทำงานมาอย่างต่อเนื่องทำให้ ม.ร.ว.ดิศนัดดาจึงเป็นบุคคลที่รัฐบาลแต่ละชุดขอคำปรึกษาในการขับเคลื่อนงานด้านนี้ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ในปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเข้าพบเพื่อหารือยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (2557- 2560) 

โดยในวันนั้น ม.ร.ว.ดิศนัดดาได้ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติโดยได้กล่าวในที่ประชุมฯว่าขณะนี้ปัญหาใหญ่ในชุมชนของประเทศไทยคือปัญหาเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้สิน และแนวทางที่ยั่งยืนคือการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้านด้วยการส่งเสริมแนวทางในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเพื่อพอเพียงกับการบริโภค และนำพืชที่เหลือจากการบริโภคไปขาย

และได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำข้อมูลสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าและนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศปลูกพืชชนิดดังกล่าวเพื่อบริโภคในประเทศและส่งเสริมให้มีการส่งออก โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องทำหน้าที่ในการหาตลาดของพืชให้กับเกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำได้จะช่วยส่งเสริมนโยบายการจัดทำโซนนิ่งของรัฐบาลที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกข้าวและยางพาราได้ด้วย  

หลายๆต่อหลายครั้งที่แนวคิดและคำให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.ดิศนัดดาช่วยกระตุกความคิดคนในสังคมจนส่งผลไปยังนโยบายของรัฐบาล ในช่วงที่รัฐบาลกำลังมีการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใน กทม.และปริมณฑลขนานใหญ่มีแผนที่จะสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายอีกหลายเส้นทาง ม.ร.ว.ดิศนัดดา กระตุกแนวคิดว่าถ้าจัดสรร “ทรัพยากร” ในโครงการเหล่านี้ลงไปพัฒนาชนบทสักส่วนหนึ่งอาจจะแค่ 1 แสนล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดหลายแสนล้านบาท โดยใช้เงินไปพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มการเก็บกักน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มากขึ้น จะแก้ได้ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง เพิ่มรายได้การเพาะปลูกจากพืชที่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพได้ในช่วงหลังการทำนา จะนำมาสู่การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อีกหลายส่วน การอพยพย้ายถิ่นของแรงงานที่จะต้องจากถิ่นฐานออกจากบ้านเกิดก็จะลดลง

แม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดี แต่ยังมีเค้าลางของความขัดแย้งของมหาอำนาจในทางการค้าจนอาจกระทบกับเศรษฐกิจในระยะต่อไป  ม.ร.ว.ดิศกุลได้กระตุกความคิดของคนในสังคมว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างมาก นอกจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การที่มีการลงทะเบียน “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” กว่า 14 ล้านคน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประชากรของประเทศ สะท้อนว่าแม้ทุกรัฐบาลจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอด แต่กลับยังมีคนจนจำนวนมาก 

พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยแม้จะเล็กแต่ก็อุดมสมบูรณ์ถ้าเราพากันหันมาเอาจริงกับแนวพระราชดำริ ก็มั่นใจว่าเราปลอดภัยและมีความสุข เพราะแนวพระราชดำริสอนให้เรารู้จักความพอประมาณ พึ่งพาตนเองได้และมีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต

“ประเทศไทยแม้จะเล็กแต่ก็อุดมสมบูรณ์ถ้าเราพากันหันมาเอาจริงกับแนวพระราชดำริ ผมมั่นใจว่าเราปลอดภัยและมีความสุข เพราะแนวพระราชดำริของพระองค์สอนให้เรารู้จักความพอประมาณ พึ่งพาตนเองได้และมีภูมิคุ้มกัน”ม.ร.ว.ดิศนัดดาเคยให้ข้อคิดไว้

ม.ร.ว.ดิศนัดดายังชี้ให้เห็นด้วยว่าการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ตลอด 70 ปีที่ผ่านมาครอบคลุมในทุกเรื่องของ SDGs ทั้งเรื่องสุขภาพ ความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา น้ำ พลังงานทดแทน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

การทำงานให้สำเร็จลุล่วงยังเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย การทำงานแบบบูรณาการทั้งจากรัฐ เอกชน และภาคธุรกิจ ครั้งหนึ่งในเวทีปาฐกถาพิเศษ ม.ร.ว.พูดถึงสังคมแบบใหม่ คือ "สังคมแบบหลายห่วงใยและแบ่งปัน" (CARE AND SHARE) ยืนอยู่บนฐานของการพัฒนาคนให้เข้มแข็ง ซึ่งแนวทางนี้สอดรับกับแนวพระราชดำริภูมิสังคม และการระเบิดจากภายใน

นอกจากนี้แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ที่รองรับการพัฒนาทุกระดับทั้งการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาภาคธุรกิจก็ได้เรียนรู้แนวพระราชดำริสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจ และคำนึงผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

มูลนิธิปิดทองหลังพระยังได้ร่วมมือกับสมาคมเครือข่าย global compact ประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่ 15 แห่งที่มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาเป็นเครือข่ายภายใต้องค์การสหประชาชาติเพื่อพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริและเป็นโมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถขยายผลไปในวงกว้างทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก รวมทั้งยังมีความร่วมมืออีกมากมายกับหลายภาคี และภาคส่วนเพื่อเข้ามาทำโครงการด้านต่างๆให้เกิดประโยชน์กับชุมชน

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “แนวคิด” และ “งาน” ที่ทำให้ ม.ร.ว.ดิศนัดนัดดาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในหลากหลายวงการ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นแนวคิด แนวทางการทำงาน ของผู้ที่ทำเพื่อส่วนรวมมาตลอดชีวิตด้วยการนำศาสตร์พระราชามาสู่การปฏิบัติ มุ่งเป้าหมายให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

..ม.ร.ว. ดิศนัดดา ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันพุธที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา เวลา 10.38 น. สิริอายุ 81 ปี 11 เดือน มีกำหนดการสวดพระอภิธรรมในเวลา 18.00 น. ณ ศาลา 3 วัดเทพศิรินทราวาส จนถึงวันจันทร์ที่ 25 ต.ค.2564

ในวันอังคารที่ 26 ต.ค.เวลา 14.00 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปในการพระราชทานเพลิงศพ