ที่ประชุมรมว.คลังเอเปค หนุน ใช้นโยบายการเงิน-คลัง รับมือ-ฟื้นตัว จากโควิด

ที่ประชุมรมว.คลังเอเปค หนุน ใช้นโยบายการเงิน-คลัง รับมือ-ฟื้นตัว จากโควิด

ที่ประชุมรมว.คลังเอเปค หนุน ให้ดำเนินนโยบายการเงิน-การคลัง รับมือโควิด-เพื่อฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ย้ำ บทบาทการดำเนินนโยบายการคลัง-การบริหารงบประมาณในการรับมือกับความท้าทายจากโควิด มีส่วนช่วยในการรักษาระดับการจ้างงาน รักษาระดับการบริโภค ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนาย Grant Robertson รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ เป็นประธาน

พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เป็นต้น และผู้แทนภาคเอกชนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) เข้าร่วมการประชุม ซึ่งหัวข้อหลัก (Theme) ของการประชุมเอเปคประจำปี 2564 คือ “Join, Work, Grow. Together.” โดยมีการหารือที่สำคัญดังนี้

1.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และระดับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 อย่างไรก็ดีสำหรับภูมิภาคเอเปคนั้น ยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายมิติ อาทิ ระดับการฟื้นตัวของแต่ละเขตเศรษฐกิจที่แตกต่างกันจากผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือในลักษณะที่แตกต่างกัน สภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น 

2. ในการประชุม APEC FMM ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือใน 2 ประเด็นหลัก (Priorities) ประกอบด้วย
2.1 การรับมือกับโควิด-19 เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม (Responding to COVID-19 for a Sustainable and Inclusive Recovery) ที่ประชุมสนับสนุนให้ดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือพหุภาคี เพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 และก้าวไปสู่การฟื้นตัวอย่างสมดุล ยั่งยืน และทันท่วงทีให้ครอบคลุมทุกมิติและทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรการในการรับมือกับโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้มีการดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้มาตรการการเงินการคลัง อาทิ โครงการให้เงินช่วยเหลือเยียวยามาตรการให้สินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ การดำเนินมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภายในประเทศนอกจากนี้ ยังได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

 

รวมถึงการเติบโตอย่างทั่วถึง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น สำหรับในระยะปานกลางถึงระยะยาวนั้นการดำเนินนโยบายการคลังจะมีความท้าทายยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากรวมถึงการปฏิรูปภาษีซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

2.2 การใช้นโยบายการคลังและการบริหารงบประมาณเพื่อรับมือกับความท้าทาย (The Use of Fiscal and Budget Management to Address OngoingChallenges)ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารงบประมาณในการรับมือกับความท้าทายจากโควิด-19 เนื่องจากมีส่วนช่วยในการรักษาระดับการจ้างงาน รักษาระดับการบริโภค ส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสทางการคลัง ความโปร่งใสด้านหนี้สาธารณะ ความมีประสิทธิภาพของการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมาชิกเอเปคควรพิจารณาดำเนินนโยบายการคลังอย่างเหมาะสมเพื่อรับมือกับความท้าทายในด้านต่าง ๆ ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน 

อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยในช่วงก่อนที่จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการคลังของไทยมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมีเสถียรภาพ ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการดำเนินนโยบายการคลังในภาวะวิกฤติได้ สำหรับภาคการคลังของไทยในปัจจุบันยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลยังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ อีกทั้ง แนวทางในการเพิ่มศักยภาพทางการคลังจะดำเนินการผ่านหลัก 3Rs ประกอบด้วย

1. Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ 2. Reshape หรือการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และ 3. Resilience หรือการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนควบคู่กันผ่านการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ในส่วนของกระทรวงการคลังได้มีการใช้มาตรการภาษีและการคลังเพื่อร่วมผลักดันการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมถึงการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

3. ที่ประชุม APEC FMM ได้พิจารณารับรองแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเซบูฉบับใหม่ (New Strategy for Implementation of the Cebu Action Plan) ซึ่งเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์ฉบับใหม่โดยได้นำเอาปัจจัยแวดล้อมใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ 1)วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ซึ่งมุ่งเน้นปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 3 มิติ ได้แก่ การค้าและการลงทุน นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมและ 2)สถานการณ์ของโควิด-19 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวด้วย

4. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ใช้โอกาสนี้ในการขอบคุณกระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ในการทำหน้าที่ประธานเอเปคในปีนี้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 สามารถสานต่อความร่วมมือภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค(APEC Finance Ministers’ Process: APEC FMP) ได้อย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยยินดีที่จะสานต่อประเด็นริเริ่มของนิวซีแลนด์ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยกรอบ APEC FMP ในปีหน้านั้นจะให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิภาคเอเปคในบริบทโลกหลังโควิด-19 ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลและการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040ด้วย 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประเทศไทยจะเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และแจ้งกำหนดการประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ในปี 2565 ดังนี้ 1) การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies' Meeting: APEC FCBDM) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2565 2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Senior Officials’Meeting: SFOM)มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 24 มิถุนายน 2565 และ 3) การประชุม APEC FMM มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2565พร้อมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ในปีหน้าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเอเปคและองค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปคให้มุ่งสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไป