ก.ล.ต.ชี้ตลาดทุนไทยแข็งแกร่ง 9 เดือนแรก ยอดระดมทุนทะลุ 1 แสนล้าน

ก.ล.ต.ชี้ตลาดทุนไทยแข็งแกร่ง 9 เดือนแรก ยอดระดมทุนทะลุ 1 แสนล้าน

ก.ล.ต.ชี้ โควิด เปลี่ยนกระแสการลงทุนโลก “คนรุ่นใหม่แห่ลงทุน- คำนึงถึงความยั่งยืน-เทคโนโลยี” เผย ตลาดทุนยังเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญ ช่วงวิกฤติ 9 เดือนแรก มูลค่าระดมทุนทะลุแสนล้าน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานสัมมนา “หุ้นปลอดภัย ฝ่าภัยโควิด” ว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้กระแสการลงทุนทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่าการลงทุนต่อจากนี้จะมีแรงผลักดันจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเติบโตของผู้ลงทุนส่วนบุคคล ความใส่ใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและธุรกิจใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มของกระแสเงินลงทุนเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ทั้งนี้คาดว่าในอนาคตแนวกระแสเงินลงทุนจะมาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Millennial Investing) สะท้อนจากข้อมูลนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือน ส.ค.2564) พบว่านักลงทุนบุคคลที่เข้ามาเปิดบัญชีใหม่กว่า 5 แสนบัญชี กว่า 60% เป็นกลุ่มคนที่มีอายุเฉลี่ย 25-41 ปีและนักลงทุนกลุ่มนี้ใช้บริการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ส่งผลให้ ก.ล.ต.มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎกติกาให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมของนักลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ นักลงทุนมีแนวโน้มคำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainable Investing) มากขึ้น โดยปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจน คือ นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสำคัญต่อประเด็นความยั่งยืน และสามารถนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้ามาประยุกต์ใช้ในวิธีการดำเนินงานในส่วนของ ก.ล.ต.ได้ให้การสนับสนุน บจ.เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านงบการเงิน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

ขณะที่กระแสการลงทุนสุดท้าย คือ การลงทุนตามกระแสหลักของโลก (Thematic Investing) ซึ่งกระแสการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี โดยขนาดของกองทุน Thematic มีการเติบโตขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น กิจการที่อยู่ในธีมหลักที่โลกให้ความสนใจลงทุนย่อมได้รับกระแสเงินทุนที่เพิ่มขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ตลาดทุนไทยยังเป็นแหล่งระดมทุนที่มีความสำคัญ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดทุนไทยสูงถึง 3,329 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.1 แสนล้านบาท) สูงที่สุดในอาเซียน เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่มีการระดมทุนสูงถึง 8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน โดยเดินหน้าลดกฎเกณฑ์หรือกติกาที่มากเกินความจำเป็น รวมถึงปรับตัวมาให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังมีเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back) ที่มีลักษณะคล้ายมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) คาดว่าจะพร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเข้ามาระดมทุนผ่านกระดานหุ้นที่ 3 ได้ภายในต้นปี 2565 นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังปรับปรุงเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO) ให้ใกล้เคียงกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั่วไปแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) มากที่สุด ปัจจุบันมีผู้ระดมทุน ICO แล้ว 1 โครงการ มูลค่า 2,400 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอเสนอขาย ICO กับ ก.ล.ต.อีกประมาณ 2-3 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะพร้อมเข้าระดมทุนในปี 2565