ผ่า“กำไร” กลุ่มแบงก์ ไตรมาส 3 พุ่ง 4.3หมื่นล้าน

ผ่า“กำไร” กลุ่มแบงก์ ไตรมาส 3 พุ่ง 4.3หมื่นล้าน

เปิดงบ 10 “แบงก์” ไตรมาส3/64 กำไรสุทธิ 4.3 หมื่นล้าน โต 35.87% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ 9 เดือน กำไร 1.39 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 31.64% หลังสำรองลดวูบ 8.48% โบรกชี้ ไทยพาณิชย์งบดีเกินคาด ประเมินทั้งปีกำไรกลุ่มแบงก์แตะ 1.73 แสนล้าน

ผ่า“กำไร” กลุ่มแบงก์ ไตรมาส 3 พุ่ง 4.3หมื่นล้าน     ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ 10 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่  43,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.87% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

      ทั้งนี้ธนาคารที่กำไรสุทธิปรับขึ้นโดดเด่น เช่น CIMBT กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 818% ขณะที่แบงก์ใหญ่ อย่าง SCB กำไรเพิ่มขึ้น 90% และKTB 65.36% และBBL เติบโตขึ้นถึง 71%
         ขณะที่ งวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 139,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.64 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน พบ KBANK กำไรโตมากที่สุด 73.46% รองลงมาคือ BAY 39.45% BBL ที่ 36.57% และ KTB ที่ 25% 

     ทั้งนี้หากดูด้านสำรองหนี้เสีย หรือผลขาดทุนด้านเครดิต ในภาพรวมไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 55,856 ล้านบาท ลดลง 8.48% ขณะที่ 9 เดือน อยู่ที่ 160,823 ล้านบาท ลดลง 13.87%

      ส่วนภาพรวมหนี้เสียโดยรวม มียอดคงค้างอยู่ที่ 555,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.87 %

      ด้านนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน กล่าวว่า ผลประกอบการของแบงก์ไตรมาส 3 ปีนี้ ถือว่าออกมาดีตามคาด

      โดยกำไรรวมทั้งอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 4.1-4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยแบงก์ที่ผลงานออกมาเกินคาดเช่น SCB ที่กำไรโตโดดเด่น

     ขณะที่การตั้งสำรองทั้งกลุ่ม คาดว่าอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 5.9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กำไรแบงก์ไตรมาสนี้เติบโตมากขึ้น

      ส่วนทั้งปี คาดการณ์ว่ากำไรแบงก์ทั้งกลุ่มน่าจะอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และอาจมีโอกาสไปแตะ 1.72-1.73 แสนล้านบาท หรือโตราว 20%

      ดังนั้นเหล่านี้ก็สะท้อนว่ากลุ่มแบงก์ผลการดำเนินงานดีขึ้น และพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนสำรองทั้งปีคาดอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 3.38 แสนล้านบาท และคาดลดต่อเนื่องเหลือ 1.9 แสนล้านบาทในปีหน้า

     อย่างไรก็ตามมองว่า กลุ่มแบงก์ยังมีความท้าทายอยู่ หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน แบงก์อาจจะต้องมาดูใกล้ชิด เกี่ยวกับหนี้เสีย ในกลุ่มเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยที่ยังเปราะบาง ดังนั้นความเสี่ยงยังมีอยู่

      ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ ให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด เพราะมีทิศทางฟื้นตัว ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ ซื้อขายยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) ต่ำเพียง 0.7 เท่า ซึ่งยังโอกาสที่ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ยังปรับขึ้นได้ โดยแนะนำซื้อ  ซึ่ง BBL โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 154 บาท และKBANK ที่ 172 บาท และ SCB ที่ 133 บาท
 

       นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ไตรมาสนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิที่ 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.0% จากปีก่อน

      เป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจที่ดีขึ้นและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง

     ซึ่งถือว่าเติบโตได้ต่อเนื่อง สะท้อนความแข็งแกร่งของฐานะการเงินของธนาคาร และความสามารถในการปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

     นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย  กล่าวว่า  ผลงาน 9 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไรสุทธิที่ 28,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.47% จากสำรองที่ลดลง 28.28% จากปีก่อน

     โดยยังตั้งสำรองระดับสูงที่ 42,879 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากโควิด-19

     อีกทั้งธนาคารยังต้องติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

     นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า  กำไร 9 เดือนอยู่ที่ 27,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.5%

     โดยมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) โดยการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกรุงศรีฯในการช่วยเหลือลูกค้าผ่านหลายมาตรการ ทั้งนี้ ปีนี้คงเป้าสินเชื่ออยู่ที่ กรอบล่างของ 3-5%

     นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย  กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังเผชิญความท้าทายจากโควิด-19

      ธนาคารจึงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ โดยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตในระดับสูง และบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ