จับตา กนศ.ชงครม.เห็นชอบเข้าร่วม “CPTPP” เร็วๆนี้

จับตา กนศ.ชงครม.เห็นชอบเข้าร่วม “CPTPP” เร็วๆนี้

กนศ.เมินเสียงค้าน เตรียมชง ครม.เห็นชอบหนังสือแสดงเจตจำนง ให้ไทยเข้าร่วม “CPTPP” เร็วๆนี้ ไม่รอจัดทำกรอบเจรจาเสร็จก่อน ทั้งๆ ที่ “กนศ.” เพิ่งสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำกรอบเจรจาใหม่ ทั้งข้อกังวล ประเด็นที่ขอแต้มต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเพิ่มเติมประเด็นที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หลังจากที่หลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันคัดค้านอย่างหนัก เพราะเกรงจะทำให้ไทยเสียเปรียบมากกว่าได้ประโยชน์ หากไทยเข้าร่วมเจรจาทั้งที่ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมใดๆ รองรับการแข่งขันจากการเปิดเสรีที่มีมาตรฐานสูงนี้เลย แม้การมีเอฟทีเอจะเป็นประโยชน์กับการค้า การลงทุนของประเทศมาก

ทั้งนี้ ที่ประชุมกนศ. มีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งข้อกังวล ข้อสงวน หรือระยะเวลาในการปรับตัว ฯลฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ โดยกำหนดให้ส่งข้อมูลภายใน 30-45 วัน ก่อนที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการ กนศ. จะรวบรวมให้กนศ.พิจารณา และนำไปเป็นประเด็นเพิ่มเติมในกรอบการเจรจาของไทย ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ เมื่อกรอบเจรจาแล้วเสร็จจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

 

 

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุนเอฟทีเอ) แบบกองทุนหมุนเวียน เพื่อใช้ช่วยเหลือ และเยียวยา ให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวรองรับการแข่งขันจากการเปิดเสรีได้ รวมถึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมซีพีทีพีพี และป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน (เฟกนิวส์) ที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ อีกทั้ง กนศ.ยังได้รับทราบรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีหน่วยงานใดคัดค้านการเข้าร่วม เพราะยังมีประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมรับการเปิดเสรี ซึ่งผู้คัดค้าน มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เอฟทีเอ วอทช์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ กนศ. ได้ถอนวาระการพิจารณาเรื่องการศึกษาผลดี ผลเสียเพิ่มเติมกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก หลังจากที่สหราชอาณาจักร จีน และไต้หวัน ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ทั้งที่ในทางปฏิบัติ หากไทยจะเปิดเจรจาเอฟทีเอกับประเทศ หรือกลุ่มประเทศใด ต้องศึกษาข้อดี ข้อเสียก่อนทุกครั้ง เพื่อจะได้จัดทำกรอบการเจรจาที่เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ส่วนการเตรียมยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงของไทย เพื่อขอเจรจาร่วมเป็นสมาชิกนั้น ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างดำเนินการ และจะเสนอให้นายดอน เป็นผู้ลงนาม คาดว่า จะเสนอให้ ครม. พิจารณาในเร็วๆ นี้ โดยการยื่นหนังสือดังกล่าว ยังเป็นข้อถกเถียงว่า จำเป็นต้องรอกรอบการเจรจาเสร็จก่อนหรือไม่ เพราะประธานกนศ.ไม่ได้กล่าวถึงเงื่อนไขว่า ต้องให้มีกรอบการเจรจาไปพร้อมๆ กับข้อสงวน และระยะเวลาปรับตัว ซึ่งประเด็นนี้ ทำให้ภาคประชาสังคม คัดค้านมาก เพราะกระทรวงการต่างประเทศ ต้องการยื่นหนังสือขอเจรจาทั้งๆ ที่ไทยยังไม่มีความพร้อมเลย แม้การยื่นหนังสือ ไม่ได้ทำให้ไทยเป็นสมาชิกได้ทันที สมาชิกต้องตั้งคณะทำงานพิจารณาก่อน หากเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วม ไทยจึงจะส่งข้อเสนอ ข้อสงวน และระยะเวลาปรับตัว ให้คณะทำงานใน 30 วัน และเริ่มเปิดการเจรจา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าไทยจำเป็นต้องเข้าร่วม เพราะจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกแบบ “สงวนท่าที” สำหรับประเด็นที่ยังไม่พร้อม เพื่อขอเจรจาเพิ่มเติมในอนาคต หากรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วม จะเริ่มกระบวนการเจรจาปี 65 ซึ่งหลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมจริงหรือไม่ และประโยชน์ที่จะได้รับ จะคุ้มค่ากับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ ประชาชน และประเทศหรือไม่ เพราะปัจจุบัน ไทยมีเอฟทีเอกับสมาชิกซีพีทีพีพีแล้ว 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บรูไน ชิลี มาเลเซีย เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม จากทั้งหมด 11 ประเทศ เว้นแคนาดา และเม็กซิโก แต่ขณะนี้ อาเซียนเตรียมเจรจาเอฟทีเอกับแคนาดา เหลือเพียงเม็กซิโก ดังนั้น สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดทั้ง 10 ประเทศได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิก เพื่อขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดสมาชิกซีพีทีพีพี

สำหรับประเด็นอ่อนไหวที่ เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร, ภาคบริการ จะเสียเปรียบมาก เพราะสมาชิกจะเข้ามาประกอบธุรกิจบริการในไทยมากกว่าที่ธุรกิจไทยจะไปลงทุนในประเทศสมาชิก, จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ธุรกิจของสมาชิก เข้ามาประมูลงานภาครัฐของไทยได้ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ถูกต่างชาติแย่งงาน ส่วนภาคเกษตรยิ่งเสียเปรียบ เพราะขาดเทคโนโลยี นวัตกรรม และจะทำให้สินค้าเกษตรจากทั้งแคนาดา และเม็กซิโก เข้ามาตีตลาด และเกษตรกรไทยเสียหาย เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ไทยควรปรับปรุงให้มีความชัดเจน และให้พร้อมรับการแข่งขัน มากกว่าที่รัฐบาลจะอ้างว่า เสนอตัวขอเข้าร่วมเจรจาก่อน หากเห็นว่าเสียมากกว่าได้แล้วค่อยถอนตัวภายหลัง