เปิดทางเลือก "ผ่อนรถ" ต่อไปไม่ไหว ทำยังไงดี ?

เปิดทางเลือก "ผ่อนรถ" ต่อไปไม่ไหว ทำยังไงดี ?

สรุป 4 ทางเลือก สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหา "ผ่อนรถ" ต่อไปไม่ไหว แก้ปัญหาด้วยวิธีไหนให้เจ็บน้อยที่สุด พร้อมข้อดีและข้อควรระวังที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ

ผลกระทบจาก "โควิด-19" ทำให้คนมี "หนี้" ทั้งหลายได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนมีหนี้ก้อนใหญ่อย่าง "หนี้รถ" สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหานี้ อย่าคิดหนีหนี้!

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนมาหาทางออกให้การ "ผ่อนรถ" ที่กำลังหนักอึ้งให้เบาลง หรือตัดปัญหาแบบเจ็บน้อยที่สุด โดยสรุปออกมาเป็น 4 ช่องทาง ดังนี้

  •  ทางเลือกที่ 1 : เจรจาตั้งแต่เนิ่นๆ 

ข้อดี: ไม่เสียประวัติ, ยังมีรถยนต์ไว้ใช้งาน, การจ่ายรายเดือนลดลง แต่อาจต้องผ่อนชำระนานขึ้น

ข้อควรระวัง: ต้องเจรจาตั้งแต่เนิ่นๆ ทันทีที่รู้ตัวว่าจะจ่ายไม่ไหว หากเจรจาหลังจากที่ค้างจ่ายหลายเดือนแล้วทำได้ยาก

วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่รู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ว่ามีแนวโน้มจ่ายหนี้ไม่ไหว โดยยังไม่ปล่อยให้ตัวเองค้างชำระจนมีประวัติผิดนัดชำระ สามารถเจรจากับเจ้าหนี้หรือไฟแนนซ์ได้ โดยชี้แจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจมีโอกาสได้รับการพักชำระหนี้ หรือมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่เหมาะสม (แล้วแต่กรณี) 

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับข้อเสนอจากเจ้าหนี้แล้ว อย่าลืมทำความเข้าใจรายละเอียดเพื่อให้วางแผนในการผ่อนให้ลงตัวในอนาคตด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : 'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ไม่เหมือนกัน! เช็คเงื่อนไข ก่อนร่วม 'มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้'

  •  ทางเลือกที่ 2 : รีไฟแนนซ์ 

ข้อดี: ไม่เสียประวัติ, ยังมีรถยนต์ไว้ใช้งาน, จ่ายค่างวดรายเดือนลดลง

ข้อควรระวัง: อาจต้องผ่อนชำระนานขึ้น, ดอกเบี้ยอาจสูงขึ้น

การรีไฟแนนซ์ คือการปรับโครงสร้างหนี้รูปแบบหนึ่ง เสมือนการของกู้ใหม่ในอัตรา ที่สามารถช่วยลดการจ่ายค่างวดในแต่ละงวดลง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่มากขึ้น ระยะเวลาการผ่อนที่นานขึ้น หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องต่างๆ ที่อาจตามมาจากการรีไฟแนนซ์ 

อย่างไรก็ดี การรีไฟแนนซ์จะเหมาะกับคนที่ต้องการรักษารถไว้ และประเมินแล้วว่ายังมีกำลังในการผ่อนชำระต่อเนื่อง โดยต้องย้ำว่าการรีไฟแนนซ์ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ดังนั้น ก่อนรีไฟแนนซ์รถยนต์จึงต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อให้การรีไฟแนนซ์คุ้มค่าที่สุด 

 

  •  ทางเลือกที่ 3 : ขายดาวน์ 

สำหรับคนที่ประเมินตัวเองแล้วพบว่าไม่สามารถผ่อนรถได้ไหวหรือถ้าผ่อนต่อไปอาจส่งผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรงได้ในระยะยาว การ "ขายดาวน์" และ "ขายต่อ" ให้คนอื่นผ่อนตามสัญญาต่อไปอาจเป็นทางออกที่ดี ที่ทำให้ไม่ต้องมีภาระหนี้หนักอึ้งในระยะยาว ไม่เสียประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต และจะได้เงินก้อนในส่วนที่เป็นการขายดาวน์ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะต้องแลกกับการเสียรถยนต์ที่รักไป 

ข้อดี: ไม่เสียประวัติ, หมดภาระผ่อนในระยะยาว, ได้เงินก้อนไว้ใช้จากการขายดาวน์ต่อ (แล้วแต่การเจรจา)

ข้อควรระวัง: ต้องเช็คเรื่องสัญญาซื้อขายให้ชัดเจน มีค่าธรรมเนียมเปลี่ยนสัญญา

เปิดทางเลือก \"ผ่อนรถ\" ต่อไปไม่ไหว ทำยังไงดี ?

  •  ทางเลือกที่ 4 : คืนรถให้ไฟแนนซ์ 

หลายคนอาจทำใจไม่ได้กับการที่ต้องเสียรถคันโปรดไป แต่นี่อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับคนที่ค้างชำระมาหลายงวด ยังหาทางผ่อนไม่ได้ หรือรู้สึกว่าไม่สามารถผ่อนชำระต่อไปได้ไหวแม้จะลดค่างวดในการผ่อนชำระแล้วก็ตาม

ทว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณกำลังพ่ายแพ้ แต่เป็นโอกาสที่ดีที่ตัดสินใจจะยุติภาระหนี้ที่ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าอย่างหนักในสภาวะที่รายได้หดหายท่ามกลางวิกฤติ และสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เมื่อพร้อมในอนาคต

ข้อดี: หมดภาระผ่อนในระยะยาว

ข้อควรระวัง: หากไฟแนนซ์นำไปขายทอดตลาดแล้วราคาต่ำกว่ายอดหนี้ที่เหลืออยู่ จะต้องจ่ายหนี้ในจำนวนที่เหลือจนกว่าจะหมด, เสียประวัติจากการผิดนัดชำระ

อย่างไรก็ตาม แต่ละทางเลือกย่อมเหมาะสมกับแต่ละคนต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับจำนวนวงเงินหนี้ที่เหลือ สถานะการผ่อนชำระที่ผ่านมา ภาระหนี้อื่นๆ ที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือน และกำลังทรัพย์ในการผ่อนชำระต่อในปัจจุบันและอนาคต 

 

ที่มา: