ธปท.เปิดแนวทางพัฒนา “ดิจิทัล” ควบคู่รักษาเสถียรภาพการเงินไทย

ธปท.เปิดแนวทางพัฒนา “ดิจิทัล” ควบคู่รักษาเสถียรภาพการเงินไทย

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เปิดงาน Bangkok FinTech Fair 2021ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ กับโลกการเงินไทย แห่งอนาคต เพื่อให้เห็นถึงก้าวถัดไปของ ระบบการเงินไทย บนโลกดิจิทัลเทคโนโลยี โดยมีกูรูระดับแนวหน้ามาให้มุมมองถึงอนาคตระบบการเงินไทย

     ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เปิดงาน Bangkok FinTech Fair 2021ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ กับโลกการเงินไทยแห่งอนาคต เพื่อให้เห็นถึงก้าวถัดไปของระบบการเงินไทย บนโลกดิจิทัลเทคโนโลยี

     นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวในการสัมมนา หัวข้อ Digital Outlook and Overview :ก้าวผ่านวิกฤติ สู้โควิดด้วยดิจิทัลว่า แนวทางในการสนับสนุนการใช้ดิจิทัลของธปท. นอกจากกำกับดูแลแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ในการ “ส่งเสริม” และ “ถ่วงดุล” เรื่องความมั่นคงของผู้ให้บริการ และให้เกิดความสมดุลในการพัฒนานวัตกรรม และทำให้เกิดความคล่องตัวในการตอบโจทย์การให้บริการทางการเงินในระยะข้างหน้าด้วย

       “Game Changer คือทำอย่างไรให้ดิจิทัลไฟแนนเชียลตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยต้นทุนที่ถูกลง สิ่งที่ต้องคำนึงคือ มิติของความปลอดภัย ความมีเสถียรภาพ และทำให้เกิดการใช้ข้อมูลอย่างเป็นธรรมและเป็นประโยชน์”

      ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงในการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี คือการปรับมุมมองของภาครัฐเอง ที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืน และมีแนวทางที่กว้างขึ้น เพื่อให้เป็นกลไกในการหนุนระบบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

      ขณะเดียวกันที่ผ่านมา มีข้อจำกัดในการผลิตและจัดสรร Digital public goods หรือการสนับสนุนสินค้าสาธารณะผ่านดิจิทัล ดังนั้นจำเป็นที่ต้องร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริม Digital public goods เพื่อพัฒนาให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆด้วย
 

      ขณะที่นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนองค์กร ทั้งเปลี่ยนการให้บริการ ทำให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆของแบงก์ 

      ขณะเดียวกันการมาของดิจิทัล ก็เป็นโจทย์สำคัญต่อผู้ให้บริการว่า จะสามารถนำมาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าที่เรียกว่า Customer experience และ Customer Engagement ให้ลูกค้าเกิดความผูกพันกับองค์กรได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ที่แบงก์จะต้องคิดมากขึ้น

      ทั้งนี้ หากมองการพัฒนาระบบการเงินในอนาคต ยังมีสองสิ่งที่ล้าหลัง และต้องพัฒนาคือ คือ การเข้าถึงระบบยืนยันตัวตนและตรวจสอบ digital ID ของผู้ทำธุรกรรมด้วยต้นทุนต่ำ และกระบวนการจัดทำเอกสารทางการเงินในรูปแบบ digital document

      รวมถึงการใช้ digital signature ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

      ขณะที่นายชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอด5ปีที่ผ่านมา หัวเวยได้อยู่ในวงการเทคโนโลยีมาโดยตลอด และมีการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ดิจิทัลดิสรับชั่นจะมา

      ซึ่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการเงินเป็นอีกปัจจัยในการยกระดับ การให้บริการทางการเงินของไทย โดยในปัจจุบันไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี 5G และ cloud computing อยู่ในระดับสูง ซึ่งพร้อมที่จะตอบสนอง business application ต่าง ๆ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศทางการเงิน และขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ