"คมนาคม" อัดงบลงทุนปี 65 ผุดโครงการใหม่กว่า 9.7 แสนล้านบาท

"คมนาคม" อัดงบลงทุนปี 65 ผุดโครงการใหม่กว่า 9.7 แสนล้านบาท

คมนาคมกางแผนปี 65 ทุ่มงบกว่า 9.7 แสนล้าน ดันเมกะโปรเจค 24 โครงการ รุกโครงข่ายทางถนน ขยายหัวเมืองเชื่อมภูมิภาค

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงนโยบายปี 2565 โดยระบุว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความอยู่ดีกินดี โดยในปี 2565 กระทรวงฯ จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก

โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสานต่อนโยบายเดิมจากปี 2564 และการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 2565

สำหรับแผนขับเคลื่อนนโยบายปี 2565 กระทรวงฯ จะผลักดันการลงทุนโครงการใหม่จำนวน 24 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 9.7 แสนล้านบาท อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์สาย M8 สายนครปฐม - ชะอำ ช่วงนครปฐม - ปากท่อ วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท

รวมไปถึงโครงการทางพิเศษช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โครงการสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี - สาละวัน) จังหวัดอุบลราชธานี วงเงิน 4.7 พันล้านบาท โครงการศูนย์ขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1.3 พันล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ และบ้านไผ่ - นครพนม

 

 

ขณะเดียวกันยังจะมีการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม - บางขุนนนท์ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน - ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่จะเริ่มการลงทุนในปี 2565 – 2571 วงเงินรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2565 กระทรวงฯ ยังมุ่งเน้นโครงการลงทุนในภูมิภาคเพื่อเป็นการขยายโครงข่ายคมนาคม และพัฒนาเมือง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ โดยจะมีการฟื้นฟูชายหาดแหล่งท่องเที่ยว อาทิ หาดจอมเทียน รวมวงเงินกว่า 1 พันล้านบาท และหาดบางแสน ในวงเงิน 440 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ท่าอากาศยานดอนเมือง 3.6 หมื่นล้านบาท ท่าอากาศยานชุมพร 3.2 พันล้านบาท และท่าอากาศยานระนอง ในวงเงิน 3.5 พันล้านบาท