กูรูเศรษฐกิจ แนะผู้นำเข้า-ส่งออก รับมือ ค่าเงินบาท ผันผวนโค้งปลายปี 64

กูรูเศรษฐกิจ แนะผู้นำเข้า-ส่งออก รับมือ ค่าเงินบาท ผันผวนโค้งปลายปี 64

กูรูเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์ มองแนวโน้ม "เงินบาท" ในช่วงปลายปี 2564 ยังมีโอกาส "ผันผวน" เตือนผู้ประกอบการไทย ทั้งนำเข้าและส่งออก อย่าชะล่าใจ แนะเทคนิค "ใช้เครื่องมือปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบบผสมผสาน" เพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรและช่วยบริหารต้นทุน

แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงปลายปี 2564 ยังมีโอกาส "ผันผวน" เริ่มจากในเดือนต.ค. นี้  เมื่อคืนวันที่ 11 ต.ค.2564 หลังรัฐบาลประกาศเตรียมเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้  และเปิดตลาดในวันต่อมา 12 ต.ค. 2564  เงินบาท "กลับทิศ"  แข็งค่าขึ้นกว่าที่ตลาดประเมินไว้ทันที  จากเงินบาทปิดตลาดวันก่อนหน้า ( 11 ต.ค 2564 ) อ่อนค่าที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์  โดยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ระดับ  33.16 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงที่เหลือของ 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ ผ่านมุมมอง "กูรูเศรษฐกิจ" ของธนาคารพาณิชย์ ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินบาท มีโอกาสยังมีแนวโน้ม "แข็งค่าขึ้น" กว่าที่ตลาดคาดได้  หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเพิ่มการถือสินทรัพย์ไทยมากกว่าคาด

และในขณะเดียว เงินบาทก็ยังมีโอกาส กลับมา "อ่อนค่าลง" ได้เช่นกัน จากปัจจัยกดดัน ที่ยังต้องติตดามความชัดเจนในเดือนพ.ย.นี้  ทั้งทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับนโยบายการเงิน การถอนมาตรการคิวอี ในการประชุมรอบเดือนพ.ย. และต้องดูผลว่าการเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้แล้วจะนำไปสู่นักท่องเที่ยวมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงราคาน้ำมันจะปรับฐานหรือไม่

กูรูเศรษฐกิจ แนะผู้นำเข้า-ส่งออก รับมือ ค่าเงินบาท ผันผวนโค้งปลายปี 64

ดังนั้น ผู้ประกอบการ ทั้งผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก "อย่าชะล่าใจ" พร้อมกับให้คำแนะนำ "ปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน" รับมือตลาดการเงินผันผวนในช่วงปลายปีนี้ ดังนี้ 

นายอมรเทพ​ จาวะลา​ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่​ สำนักวิจัย​ ธนาคาร​ ซีไอเอ็มบี​ ไทย​ หรือ CIMBT  กล่าวว่า  ผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าว่า "อย่าชะล่าใจ" ​กับเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า​ในเดือนต.ค.นี้ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในตลาดต่างประเทศมาก​ โดยเฉพาะราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์​ที่ยังเพิ่มขึ้นอีกได้​ นำไปสู่ความกังวลด้านเงินเฟ้อ​ และรายจ่ายในการนำเข้าที่สูงขึ้นของไทย​ ซึ่งผู้ส่งออกอาจป้องกันความเสี่ยง​ค่าเงินไว้บ้าง​

แนะนำว่า ผู้ประกอบการทั้ง ผู้นำเข้า​ และผู้ส่งออก  ควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน​ โดยการทำ​ FX Hedging​ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยล็อกต้นทุนไว้  ด้วยการ "ล็อกค่าเงินบาทในระดับที่รับได้​​"  ภายใต้มุมมองที่คาดการณ์ไว้​ ช่วยให้สามารถรู้ต้นทุนที่แน่นอนแม้ค่าเงินบาทจะผันผวนขึ้นลง  อย่างไรก็ตามประเมินเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าแตะ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ 

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย  หรือ KBANK  กล่าวว่า  ทั้งผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ควรปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยการ "ประเมินต้นทุนของตนเอง" และเน้นกลยุทธ์ว่า "อัตราแลกเปลี่ยนที่เท่าไหร่ทำให้มีกำไร" เพราะหากใช้เครื่องมือ fx option มองว่า ควรจะรอให้ค่าเงินมันนิ่งมากกว่านี้ก่อน เพราะในตอนนี้ราคาจะแพงเกินไป

 

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB  กล่าวว่า  ผู้ประกอบการ "ไม่ควรชะล่าใจ" โดยเฉพาะ "ฝั่งผู้นำเข้า" อาจเปิดความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อไปรอแลกเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่ายังคงมีอยู่ 

ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงิน แนะนำว่า ผู้ประกอบการทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก "ควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายขึ้น" อาทิ ใช้ Forward ควบคู่กับการทำ Options และการใช้บัญชี FCD เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb กล่าวว่า  สำหรับผู้ส่งออก ถ้าในระยะสั้นควรจะประกันความเสี่ยงเพิ่ม เพื่อล็อครายได้ไว้ก่อนที่บาทมีแนวโน้มแข็งกว่าเดิม ส่วนผู้นำเข้า อาจจะประกันความเสี่ยงไว้บางส่วน และบางส่วนรอดูทิศทางบาทที่แข็งขึ้น

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง  ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY  แนะนำว่า  ผู้ประกอบการฝั่งนำเข้าและส่งออก  ควรจะ ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน "ราวครึ่งหนึ่งของธุรกรรมหรือตามนโยบายของผู้ประกอบการ"   

เนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเหวี่ยงตัวกว้างและเร็วทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงมีหลากหลายมิติมากขึ้น ตลาดเปลี่ยนเร็ว การจับจังหวะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจึงทำได้ยาก หรือ  "อาจพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการชำระค่าสินค้า"  ในกรณีที่สามารถทำได้และเห็นว่าเหมาะสมกับการบริหารต้นทุน 

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist ธนาคารกรุงเทพ  หรือ BBL  กล่าวว่า ในช่วงตลาดการเงินผันผวนช่วงปลายปีนี้ แนะนำว่า  ผู้ประกอบการนำเข้า ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อาจจะต้องปรับตัวโดยการ "มองหาแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่น หรือต้องปรับเพิ่มราคาสินค้า" และอาจต้องระวังแนวโน้มเรื่องค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ