สถาบันยานยนต์ รับไม้ตัวแทน Technical Service ไทย ใต้ข้อตกลง APMRA

สถาบันยานยนต์ รับไม้ตัวแทน Technical Service ไทย ใต้ข้อตกลง APMRA

สถาบันยานยนต์ พร้อมเป็นตัวแทน Technical Service ของไทย พิจารณาตรวจสอบร่วมรวม 19 ผลิตภัณฑ์ เปิดทางส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในอาเซียน

ข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Type Approval for Automotive Products - APMRA) ได้มีการลงนาม ครบทั้ง 10 ประเทศแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกให้สัตยาบันครบทั้งหมดหรือเมื่อครบ 1 ปี นับจากวันที่ลงนามแล้วแต่ว่ากรณีไหนจะถึงก่อน คาดว่าประมาณเดือน ม.ค. 2565 จะครบทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยได้แจ้งต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ว่าไทยพร้อมจะปฏิบัติตามพันธกรณีของข้อตกลงนี้แล้ว

สถาบันยานยนต์ (สยย.) ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงนี้เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหน่วยตรวจสอบรับรอง หรือ Technical Service (TS) โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งถือว่าเป็น Designating Body (DB) และกรมการขนส่งทางบก เป็นหน่วยควบคุมกฎระเบียบหรือที่เรียกว่า Regulatory Authority (RA) ซึ่งการยอมรับร่วมตามข้อตกลง APMRA แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 เป็นการยอมรับผลการทดสอบ (Test report) หรือใบรับรอง (Certificate) เพื่อใช้ในการอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยานยนต์ในประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ได้เป็นการยอมรับมาตรฐานของชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดทุกผลิตภัณฑ์ของมาตรฐาน UNECE

แต่ละประเทศสมาชิกได้มีการเลือกมาตรฐานออกมา 19 ผลิตภัณฑ์ที่นำมาทำการพิจารณาการยอมรับผลการทดสอบร่วมกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ ที่นั่งเข็มขัดนิรภัย กระจกมาตรวัดความเร็ว การทดสอบเพื่อหามลพิษของรถจักรยานยนต์และรถยนต์ เรื่องความทนทานของล้อรถยนต์รถพาณิชย์และรถยนต์นั่ง ระบบแตร ระบบเบรก

โดยรวม 19 ผลิตภัณฑ์นี้เป็น 19 ผลิตภัณฑ์ที่ถูกหยิบยกออกมาเพื่อพิจารณาให้การยอมรับร่วมกันก่อนโดยมีระยะเวลาแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ในช่วงแรกจะมี 10 ผลิตภัณฑ์ที่จะทำการยอมรับร่วมกันในปี 2565 ต่อมาในปี 2566 อีก 6 ผลิตภัณฑ์ และเหลืออีก 3 ผลิตภัณฑ์ในปี 2567 เพื่อให้การพิจารณาในการยอมรับร่วมของ 19 มาตรฐานนี้เป็นไปอย่างราบรื่น

ประเทศสมาชิกได้มีการตกลงที่จะทำการทดลองที่เรียกว่าเป็น Trial run สำหรับ 4 มาตรฐานก่อน คือ มาตรฐานระบบแตร มาตรฐานเสียงรถจักรยานยนต์ รถยนต์ มาตรฐานระบบเบรก โดย 4 มาตรฐานนี้ จะถูกนำมาใช้พิจารณากระบวนการทดสอบรับรองแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อที่ทางคณะกรรมการยานยนต์อาเซียนด้านผลิตภัณฑ์รถยนต์และชิ้นส่วน (ASEAN Automotive Committee – AAC) ได้ทำการพิจารณา โดยที่นำเอากระบวนการทดสอบรับรองของแต่ละประเทศสมาชิกมาเทียบเคียงกันดูโดยที่ประเทศไทยได้เข้าไปร่วมในกระบวนการ Trial run นี้ด้วย

สำหรับระยะที่  2 เป็นการปรับมาตรฐานและวิธีการทดสอบรับรองของชิ้นส่วนยานยนต์ให้เป็นไปตามข้อตกลง 1958 Agreement ภายใต้ The United Nations Economic Commission for Europe (UNECE)

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า จากการที่สถาบันยานยนต์ได้รับ
การเสนอชื่อเข้าไปเป็นหน่วยตรวจสอบรับรอง Technical service ของประเทศไทย สถาบันยานยนต์จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือทดสอบ ห้องปฏิบัติการ บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถด้านการทดสอบ

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการเมื่อสถาบันยานยนต์ได้รับการยอมรับให้เป็นหน่วยตรวจสอบรับรองของประเทศไทย ผลการตรวจสอบรับรองของสถาบันยานยนต์จึงเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน และที่สำคัญยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการภายในประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกทำให้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศไทยเพื่อไปจำหน่ายในประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นไปโดยสะดวกและไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำผลิตภัณฑ์ไปทำการตรวจซ้ำที่ประเทศปลายทาง

ทั้งนี้สถาบันยานยนต์พร้อมดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานของการทดสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทยในอนาคต