เอกซเรย์ "11หุ้นไอพีโอ" ก่อนหมดปี “เสน่ห์” อะไรซ่อนอยู่ ?

เอกซเรย์ "11หุ้นไอพีโอ" ก่อนหมดปี “เสน่ห์” อะไรซ่อนอยู่ ?

ส่องความสวย “11 หุ้นไอพีโอ” เสน่ห์แรงก่อนปิดท้ายปี 2564 ดีเดย์เรียงคิวเข้าระดมทุนทั้งใน SET-MAI หลังมนต์ขลังไม่เคยคลาย... ลุ้นสตอรี่หุ้น IPO ตัวไหน จะโดนใจนักลงทุน “ได้” หรือ “ไม่” ?

หากเอ่ยถึง “ตลาดหุ้นไทย” นอกจากหุ้น “พื้นฐานดี” (Blue-chip) บรรดานักลงทุน ผู้พิสมัยการลงทุนต้องมีติดพอร์ตโฟลิโอแล้ว ! หนึ่งในเสน่ห์ที่สร้างความ “คึกคัก” ให้นักลงทุนในวันแรก ! คงต้องยกให้ หุ้น IPO หรือ หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก อาจจะด้วยเพราะความสด-ใหม่ของธุรกิจ หรือ แม้แต่บางบริษัทราคาไอพีโออาจจะเป็นราคาที่ต่ำสุดแล้ว (มั้ง) !! ดังนั้น จึงเป็นที่มาของความต้องการล้นหลามเพื่อจองซื้อหุ้น IPO อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเสน่ห์ของหุ้นไอพีโอไม่เคยจืดจาง... สะท้อนผ่านภาพรวมไอพีโอ ปี 2564 ที่ความคึกคักใกล้เคียงกับปี 2563 ที่แม้ธุรกิจต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จำนวนหุ้นที่เข้าระดมทุน และมาร์เก็ตแคปไอพีโอยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาในปีนี้หุ้นที่สร้างระดับความ “ฮอตฮิต” และเป็นกระแสพูดถึงในวงกว้างต้องยกให้ 2 หุ้นไอพีโอ อย่าง บมจ.ปตท.น้ำมันและค้าปลีก หรือ OR และ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDOR

3 เดือนปิดท้ายก่อนหมดปี 2564 มีหุ้น IPO เตรียมเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) อีกบ้าง !! “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” พบว่า คาดว่ายังมีอีก “11 หุ้นไอพีโอ” ที่เตรียมเข้าระดมทุนก่อนหมดปีนี้-หรืออาจจะต่อเนื่องต้นปีหน้า หลังได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว

บมจ. ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ หรือ TFM ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ อาหารกุ้ง อาหารปลา และอาหารสัตว์บก โดยเข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 109,300,000 หุ้น คาดเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้

เอกซเรย์ \"11หุ้นไอพีโอ\" ก่อนหมดปี “เสน่ห์” อะไรซ่อนอยู่ ? สำหรับเงินระดมทุนครานี้ ! นำไปใช้ขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง

ด้วย “จุดเด่น” ของ TFM เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจและผู้นำในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของคนไทย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและเป็นบริษัทแกนนำ (Flagship) ในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำของกลุ่ม บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ “กลุ่มอาหารกุ้ง” ที่เป็นหนึ่งในผู้นำมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 17% ของปริมาณอาหารกุ้งไทย (ปี 2563)

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ “กลุ่มอาหารปลา” (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพง และปลาเก๋า เป็นต้น 2. อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิล และปลาดุก 3. อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา และ 4. อาหารกบ

เอกซเรย์ \"11หุ้นไอพีโอ\" ก่อนหมดปี “เสน่ห์” อะไรซ่อนอยู่ ? อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) บริษัทเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้อง “กำไรสุทธิ” 406.6 ล้านบาท 839.8 ล้านบาท และ 410.4 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” 4,492.7 ล้านบาท 4,906.8 ล้านบาท และ 4,244.5 ล้านบาท งวด 6 เดือนปี 2564 กำไรสุทธิ 100.4 ล้านบาท และ มีรายได้ 2,370.2 ล้านบาท 

บมจ. เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล หรือ HENG ธุรกิจให้บริการสินเชื่อครบวงจร ที่มิใช่สถาบันการเงิน (แบงก์) ให้บริการ 1.สินเชื่อเช่าซื้อ 2.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 3. สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน 4.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 5.สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) และ 6.นายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต 

โดยเข้าระดมทุนในตลาด SET เสนอขายหุ้นจำนวน 800,837,300 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1.95 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาท เข้าซื้อขายวันแรก 19 ต.ค. 2564 

สำหรับการเข้าระดมทุนครั้งนี้ ! นำเงินที่ได้จากการระดมทุนขยายธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ขยายสาขา เพื่อขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้เติบโตตามแผนโตปีละ 28% อีกส่วนหนึ่งชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจากสถาบันการเงิน ลดภาระหนี้เพื่อลดต้นทุน และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Software และ Mobile Application

ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนผ่าน “กำไรสุทธิ” 151.8 ล้านบาท 188.7 ล้านบาท และ 318.1 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” 1,406.9 ล้านบาท 1,743.4 ล้านบาท และ 1,590.0 ล้านบาท งวด 6 เดือนปี 2564 กำไรสุทธิ 109.1 ล้านบาท และ รายได้ 765.2 ล้านบาท  

บมจ. ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค หรือ PIN ธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม พร้อมระบบสาธารณูปโภค โดยเข้า SET ขายหุ้นไม่เกิน 290,000,000 หุ้น คาดจะเข้าซื้อขายวันแรกเดือนพ.ย. 2564 

สำหรับเงินระดมทุนในครั้งนี้ ! จะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนในโครงการ Logistics Park รวมทั้งชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการอนาคต 

ด้วย “จุดเด่น” ของ PIN ถือเป็นหุ้นนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นในรอบ 10 ปี ซึ่งปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการแล้วจำนวน 5 โครงการ โครงการ Logistics Park ที่ดำเนินการแล้ว 1 โครงการ และนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 1 โครงการ ซึ่งโครงการทั้งหมดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้น อนาคตมีโอกาสเติบโตยังมีอีกสูง 

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 215.40 ล้านบาท 205.92 ล้านบาท และ 347.28 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” 964.69 ล้านบาท 867.44 ล้านบาท และ 1,128.11 ล้านบาท งวด 6 เดือนปี 2564 กำไรสุทธิ 30.46 ล้านบาท และ มีรายได้ 155.54 ล้านบาท 

บมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ ONEE ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ลงทุนในธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตเนื้อหา (Content Provider) ประเภท ละคร ซีรีส์ รายการวาไรตี้ รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ทางออนไลน์ 2.ธุรกิจผลิตรายการวิทยุเพื่อขายโฆษณา และ 3.ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 

โดยเข้าตลาด SET ขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 496,252,500 หุ้น ปัจจุบันกำหนดช่วงราคาขายไอพีโอ 7.50-8.50 บาทต่อหุ้น คาดจะเข้าซื้อขายวันแรกเดือนพ.ย. 2564 

สำหรับเงินระดมทุนในครั้งนี้ ! จะนำไปใช้การลงทุนพัฒนาศักยภาพในการผลิตรายการและเพิ่มงบประมาณผลิตรายการ การลงทุนพัฒนาขีดความสามารถของระบบสารสนเทศ (Information Technology) การปรับโครงสร้างเงินทุนโดยการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และที่เหลือเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

ด้วย “จุดเด่น” ของ ONEE คือ ผู้ผลิตคอนเทนท์ ช่วยสร้างแต้มต่อในวงการ ยิ่งปีก่อนผนึกกับจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ทำให้บริษัทมีคอนเทนท์เจาะกลุ่มผู้ชมได้กว้าง (Mass) มากขึ้น และเป็น “โฮลดิ้ง คัมปะนี” ด้านผลิตคอนเทนท์ที่ใหญ่มาก จากปีนี้เกมรุกนำคอนเทนท์ไปเสิร์ฟผู้ชม บริษัทจะโฟกัสช่วงเวลานอน-ไพรม์ไทม์เพื่อเก็บเกี่ยวรายได้เพิ่ม

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 72.58 ล้านบาท 227.56 ล้านบาท และ 657.59 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” 4,199.37 ล้านบาท 4,818.27 ล้านบาท และ 4,875.31 ล้านบาท งวด 6 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 455.13 ล้านบาท และรายได้ 2,782.57 ล้านบาท 

บมจ.โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต หรือ CMCF ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยแบ่ง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ 2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป (Pet Food) 3.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ และ 4.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล (By Product) 

โดยเข้าตลาด SET เสนอขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 187,500,000 หุ้น คาดจะเข้าซื้อขายวันแรกในไตรมาส 4 ปี 2564

สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ ! จะนำเงินที่ได้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้ชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งคาดว่าหลังเข้าระดมทุนและจะทำให้ D/E ปรับตัวลดลงต่ำกว่าปัจจุบันที่อยู่ระดับ 1 เท่า 

ด้วย “จุดเด่น” ของ CMCF รายได้หลักส่วนใหญ่จากการส่งออกประมาณ 90% โดยจำหน่ายกว่า 50 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่ม Standard Product ประมาณ 60-70% ด้านธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง Pet Food อยู่ที่ระดับประมาณ 20% ซึ่งในอนาคตบริษัทคาดหวังสัดส่วนให้เป็น 30% เนื่องจากมีโอกาสเติบโตสูงและมาร์จินดี  

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 311.24 ล้านบาท 372.27 ล้านบาท และ 404.80 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้”  6,712.21 ล้านบาท 5,968.16 ล้านบาท 6,749.93 ล้านบาท งวด 6 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 42.24 ล้านบาท และรายได้ 1,584.31 ล้านบาท 

บมจ. ซีวิลเอนจีเนียริง หรือ CIVIL ธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานโครงการในแนวราบ เช่น งานทาง งานท่าอากาศยาน งานทางรถไฟ และงานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 2. ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปและวัสดุก่อสร้างต่างๆ และ 3.ธุรกิจให้เช่าและบริการอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้าง 

โดยตลาด SET เสนอขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 200,000,000 หุ้น คาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกภายในไตรมาส 4 ปี 2564 

สำหรับการระดมทุนครั้งนี้ ! จะนำเงินสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในโครงการก่อสร้าง ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ (ถ้ามี)

ด้วย “จุดเด่น” ของ CIVIL ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านระยะเวลา และต้นทุนในการดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงเป็นการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อทดแทนเครื่องจักรและอุปกรณ์เดิม เช่น เครื่องจักรหนัก เครื่องจักรสำหรับขนส่งหรือเครน และเครื่องจักรสำหรับงานสนับสนุน 

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 333.24 ล้านบาท 140.65 ล้านบาท และ 86.89 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” 4,005.92 ล้านบาท 3,210.40 ล้านบาท และ 4,129.58 ล้านบาท งวด 6 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 69.15 ล้านบาท และรายได้ 1,186.82 ล้านบาท 

บมจ. ชิค รีพับบลิค หรือ CHIC ธุรกิจเป็นศูนย์รวมจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน ที่นอนและเครื่องนอน อย่างครบวงจร (One Stop Shopping) ในรูปแบบ Stand Alone ภายใต้ชื่อ “ชิค รีพับบลิค (CHIC)” และ “รีน่า เฮย์ (Rina Hey)” 

โดยเข้าระดมทุนในตลาด SET เสนอขายหุ้น จำนวนไม่เกิน 360,000,000 หุ้น คาดจะเข้าซื้อขายวันแรกในไตรมาส 4 ปี 2564 หรือช้าสุดต้นปีหน้า 

สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ ! บริษัทจะนำเงินที่ได้ใช้ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการขยายสาขาแห่งใหม่ เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

ด้วย “จุดเด่น” ของ CHIC ถือเป็น “โฮมแฟชั่นสโตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย” ที่รวบรวมเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน และที่นอนและเครื่องนอน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปัจจุบันมีสาขาที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 6 สาขา โดยแบ่งเป็นสาขาภายในประเทศจำนวน 5 สาขา และสาขาต่างประเทศจำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขากัมพูชา

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 20.74 ล้านบาท 54.44 ล้านบาท และ 34.15 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้”  539.72 ล้านบาท 781.27 ล้านบาท และ 707.71 ล้านบาท

๑ลุยเทรดตลาด MAI 

บมจ. รุ่งเรืองตลอดไป หรือ GLORY ธุรกิจจัดจำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วย นิยาย การ์ตูน และหนังสือออนไลน์ โดยมีช่องทางจัดจำหน่ายหลักผ่านเว็บไซต์ “Kawebook.com” และแอปพลิเคชั่น “Kawebook” 

โดยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เสนอขายหุ้นจำนวน 70 ล้านหุ้น ในราคา 2.80 บาท เข้าซื้อขายวันแรก 25 ต.ค.นี้ 

สำหรับเงินระดมทุนครานี้ ! จำนวน 189 ล้านบาท จะนำไปขยายการลงทุนเพื่อพัฒนา Platform รองรับการ Scale Up ไปยังต่างประเทศ รวมถึงเตรียมแปลลิขสิทธิ์วรรณกรรมไทยที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เป็น Prototype ส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อเปิดตลาดวรรณกรรมไทยออนไลน์ ให้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่เงินจากการระดมทุนอีกส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมจากต่างประเทศเพิ่มเติมจากที่มีในปัจจุบัน

ด้วย “จุดเด่น” ของ GLORY เป็นบริษัท Tech Startup ที่พัฒนา Platform ออนไลน์ โดยมีระบบการบริหารจัดการที่ครบทุกมิติ ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสื่อบันเทิงประเภทงานวรรณกรรม นิยาย และหนังสือได้ง่ายและสะดวก อีกทั้งธุรกิจยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 12.44 ล้านบาท 14.05 ล้านบาท และ 13.99 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” 42.52 ล้านบาท 73.49 ล้านบาท และ 78.42 ล้านบาท งวด 6 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 7.40 ล้านบาท และรายได้ 45.43 ล้านบาท 

บมจ.เบริล 8 พลัส หรือ BE8 ธุรกิจที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation ที่ให้บริการแบบครบวงจร ในด้านการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า การให้บริการด้านการจัดเก็บและบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และการสร้างโมเดลการวิเคราะห์กับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่าย และเป็นพันธมิตรกับบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกในด้านต่างๆ 

โดยเข้าระดมทุนในตลาด mai เสนอขายหุ้นไม่เกิน 50,000,000 หุ้น คาดเข้าซื้อขายวันแรกในไตรมาส 4 ปี 2564 

สำหรับเงินระดมทุนครานี้ ! จะนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายสาขาต่างประเทศ ลงทุนทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ด้วย “จุดเด่น” ของ BE8 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (End-To-End Digital Transformation Expert) ที่ให้บริการตั้งแต่คำปรึกษาด้าน Digital Strategy การวางแผนพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การเลือกใช้ซอฟต์แวร์และพัฒนาระบบให้สำเร็จตามแผน 

รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการจัดเก็บบริหารข้อมูลขนาดใหญ่และนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนบริการดูแล แก้ปัญหาการใช้งานระบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรฐานการให้บริการระดับสากลทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน และวางเป้าหมายเป็นผู้นำขับเคลื่อนการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นในระดับภูมิภาคอาเซียน 

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 32.99 ล้านบาท 64.26 ล้านบาท และ 23.64 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้”  211.57 ล้านบาท 311.49 ล้านบาท และ 312.54 ล้านบาท งวด 6 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 39.23 ล้านบาท และรายได้ 178.81 ล้านบาท 

บมจ. เดลต้า หรือ DPAINT ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร โดยระดมทุนในตลาด mai เสนอขายหุ้นจำนวน 53.25 ล้านหุ้น คาดจะเข้าซื้อขายวันแรกเดือน ต.ค. นี้ 

สำหรับเงินระดมทุนในครั้งนี้ ! จะนำไปใช้ปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร และระบบการผลิตที่โรงงานสุวินทวงศ์ ซึ่งเป็นโรงงานแห่งใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ให้มีความทันสมัยและมีระบบอัตโนมัติ อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน 

เอกซเรย์ \"11หุ้นไอพีโอ\" ก่อนหมดปี “เสน่ห์” อะไรซ่อนอยู่ ? ด้วย “จุดเด่น” ของ DPAINT เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร ประกอบด้วย สีคุณภาพพิเศษ สีคุณภาพสูง และสีคุณภาพคุ้มค่า โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเสริมพอร์ต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสีทาอาคารในประเทศไทยที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 20,000 ล้านบาท

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 12.4 ล้านบาท 35.5 ล้านบาทและ 41.9 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้”  519.3 ล้านบาท 585.7 ล้านบาท และ 596.2 ล้านบาท งวด 6 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 46.4 ล้านบาท และรายได้ 387.7 ล้านบาท 

บมจ. โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) หรือ JP ธุรกิจพัฒนา ผลิตและจําหน่ายยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชภัณฑ์ และแอลกอฮอล์ทำความสะอาด ภายใต้เครื่องหมายการค้าของ ลูกค้า และเครื่องหมายการค้าของบริษัท 

โดยเข้าระดมทุนในตลาด mai เสนอขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 115 ล้านหุ้น ซึ่งกำหนดกรอบราคาหุ้น 6.80-7.50 บาท คาดเข้าซื้อขายวันแรกเดือนพ.ย. นี้ 

สำหรับเงินระดมทุนครั้งนี้ ! จะนำเงินที่ได้ไปส่งเสริมศักยภาพการเติบโตในระหว่างปี 2564-2567 คือ 1.โครงการพัฒนาและแปรรูปพืชไข่น้ำเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ 2.ใช้เงินลงทุนเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ และ 3.โครงการปรับปรุงและขยายโรงงานทั้งในส่วนกรุงเทพฯและจังหวัดลำพูน ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนหนี้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

ด้วย “จุดเด่น” ของ JP ความเชี่ยวชาญมานานกว่า 70 ปี ด้วยทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถต่อยอดงานวิชาการสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ตราสินค้าบริษัทฯ (Own Brand) และขยายฐานกลุ่มลูกค้าการรับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีการจดทะเบียนยาที่พร้อมใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ และอาหารเสริมแล้วกว่า 2,000 ผลิตภัณฑ์

สะท้อนผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 12.39 ล้านบาท 23.57 ล้านบาท และ 31.08 ล้านบาท ขณะที่ “รายได้” 352.29 ล้านบาท 365.53 ล้านบาท และ 462.74 ล้านบาท งวด 6 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิ 19.37 ล้านบาท และรายได้ 209.54 ล้านบาท