ทอท.ทรานส์ฟอร์มดิจิทัล ต่อยอดรายได้ Non Aero

ทอท.ทรานส์ฟอร์มดิจิทัล ต่อยอดรายได้ Non Aero

ทอท. ปรับทัพลุยดิจิทัลแพลตฟอร์ม เปิดตัว “SAWASDEE by AOT” รองรับเปิดน่านฟ้า 1 พ.ย.นี้ ชูบริการออนไลน์ พร้อมเชื่อมการค้าโลก ดันรายได้นอนแอโรว์ 50% หนุนองค์กรโตยั่งยืน

องค์กรต่างๆ กำลังเผชิญความท้าทายที่คาดไม่ถึงอย่างโควิด-19 และความท้าทายจากความเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ องค์กรธุรกิจหลายแห่งต้องใช้การปรับ เปลี่ยน หรือ ข้ามสายพันธุ์ธุรกิจเพื่อผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปให้ได้ ขณะเดียวกันต้องพร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆจาากนี้ด้วย 

“การทำงานวันนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอีก 3 ปีข้างหน้า โควิด-19 เป็นแรงผลักดันให้ดิจิทัลดิสรัปชั่นเกิดเร็วขึ้น” บทสัมภาษณ์บางช่วงของ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่กล่าวถึงการปรับตัวจากบทบาทของผู้ให้บริการท่าอากาศยาน สู่การเป็นท่าอากาศยานครบวงจร

สำหรับ ทอท.เป็นหน่วยงานผู้ให้บริการท่าอากาศยานในไทย 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยมีรายได้มาจากกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) ซึ่งประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน และค่าเรื่องอำนวยความสะดวก เป็นต้น

ทอท.ทรานส์ฟอร์มดิจิทัล ต่อยอดรายได้ Non Aero

ขณะเดียวกัน ยังมีรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non Aeronautical Revenue) ซึ่งประกอบด้วยรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ค่าเช่าสำนักงานและค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และรายได้จากการให้บริการ โดยรายได้ทั้งหมดนั้นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง มีตัวแปรสำคัญจากการเดินทางของผู้โดยสาร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงของการเกิดโรคโควิด-19 ที่ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางได้ รายได้ของ ทอท.ปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นผลให้กระแสเงินสดในมือลดลงจาก 7.7 – 7.8 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 1.1 หมื่นล้านบาท

นิตินัย เผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ ทอท.หลังจากนี้ว่า วันนี้ ทอท.กำลังเตรียมการในเรื่องของการเพิ่มรายได้ Non Aero เพิ่มสัดส่วนจาก 43% ให้เป็น 50% เพื่อทำให้การเติบโตของ ทอท.เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งตัวแปรสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของโควิด-19 คือการปรับตัวสู่ดิจิทัล โดยขณะนี้ ทอท.กำลังพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่จะทำให้ ทอท.ไปได้ไกลกว่าการหารายได้จากการบิน

“เรามีผู้โดยสารเดินทางผ่านเข้าออกสนามบิน อย่างสุวรรณภูมิ ปีละกว่า 64 ล้านคน ในช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด-19 แต่ที่ผ่านมาเราทำหน้าที่เพียงบริการผู้โดยสารที่จะเกิดทางผ่านสนามบิน แต่ไม่ได้เก็บพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ซึ่งหลังจากนี้ดิจิทัลแพลตฟอร์มจะทำให้เราสามารถเก็บพฤติกรรมผู้บริโภค นำไปพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ผู้โดยสารมากขึ้น”

โดยเป้าหมายของการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของ ทอท. คือการผลักดันให้ ทอท.เป็นสนามบินที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่เพียงใช้บริการเพื่อการเดินทางเท่านั้น แต่จะเชื่อมต่อบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค มีบริการครอบคลุมตั้งแต่การใช้งานภายในสนามบิน ตลอดจนวางแผนการเดินทาง ร้านค้า ร้านอาหาร และเกมส์เพื่อสะสมคะแนนรับโปรโมชั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้โดยสารอยู่กับ ทอท.ในชีวิตประจำวัน

นิตินัย ยังเผยด้วยว่า ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ ทอท.กำลังพัฒนาจะเปิดตัวคือแอพพลิเคชั่น “SAWASDEE by AOT” จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เริ่มต้นด้วยบริการที่ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบายตลอดการใช้บริการสนามบิน อาทิ เตือนรับกระเป๋า เช็คเที่ยวบิน จองแท็กซี่ หาตำแหน่งห้องน้ำ รวมทั้งเช็คคิวด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขณะเดียวกันจะมีบริการที่ ทอท.ร่วมกับพันธมิตร อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวผ่านระบบ AI สามารถเห็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบเสมือนจริง และ ทอท.ยังอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรร้านค้า และร้านอาหารในไทย เพื่อจัดทำโปรโมชั่น

ขณะที่แผนพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในระยะต่อไป หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว ทอท.จะเดินทางไปเจรจากับสนามบินพันธมิตรในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement) โดยปัจจุบันมีจำนวน 16 สนามบิน ใน 9 ประเทศทั่วโลก อาทิ ท่าอากาศยานมิวนิก(เยอรมัน) ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน (เกาหลีใต้) ท่าอากาศยานนาริตะ (ญี่ปุ่น) ท่าอากาศยานปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ (จีน) เป็นต้น

ทั้งนี้ การต่อยอดความร่วมมือด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มกับพันธมิตรสนามบินต่างประเทศนั้น ทอท.จะจัดทำในรูปแบบของการเสนอขายสินค้าและบริการจากประเทศปลายทางที่ผู้โดยสารจะเดินทางไป โดยสามารถถทำการสั่งจองสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชั่น AOT เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ประหยัดเวลาในการรอรับบริการเมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง ส่วน ทอท.จะได้รายได้จาก Revenue Sharing หรือการแบ่งรายได้

“ต่อไปการค้า AOT จะไม่มีพรมแดน ผู้โดยสารสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการจากสนามบินพันธมิตรของเราได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ทำให้โลกเสมือนจริงใหญ่ขึ้นจริง เป็นการขยายฐานผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องรอการเดินทาง เพราะหากนับเพียงผู้โดยสารของสนามบินจากจีน แต่ละปีก็มีผู้โดยสารเดินทาง 120 ล้านคน หากเราสามารถเชื่อมต่อดิจิทัลแพลตฟอร์มนี้ได้ จะมีผู้ใช้บริการเข้ามาใช้แอพพลิเคชั่น เลือกซื้อสินค้าและจองบริการผ่านเรามากขึ้น”

นิตินัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ทอท.คาดหวังหลังการเปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์ม มั่นใจวว่าหลังเปิดตัวจะมียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น AOT เพิ่มขึ้นเป็น 1-2 ล้าน จากปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดอยู่ราว 6 แสน และผลที่จะตามมาจากการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มนี้ คือการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง อีก 2 ปีข้างหน้ารายได้ Non Aero ของ ทอท.จะเพิ่มเป็น 50% สามารถครอบคลุมรายได้ในองค์กรได้ 100% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รายได้ด้าน Aero จะกลายเป็นรายได้ของแถม