ลุ้นปี 65 ดึง ต่างชาติ 15 ล้านคนเที่ยวไทย

ลุ้นปี 65 ดึง ต่างชาติ 15 ล้านคนเที่ยวไทย

“พิพัฒน์” ตั้งเป้าปี 65 ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 15 ล้านคน หนุนรายได้รวมตลาดใน-ต่างประเทศ “1.5 ล้านล้านบาท” ฟื้น 50% เทียบก่อนเผชิญโควิด คาดเปิดพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-ประจวบฯ-เพชรบุรี-ชลบุรี” ทัน 1 พ.ย. นี้

ตามเงื่อนไขฉีดวัคซีนครบเกณฑ์สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่พบติดเชื้อคลัสเตอร์ใหญ่ ด้าน “กพท.” ชง “ศบค.” พิจารณาคลายล็อกจำกัดปริมาณที่นั่งบนเครื่องบิน“ไทยแอร์เอเชีย” หวัง 2 เดือนโค้งท้ายตลาดบินในประเทศพีค

ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก่อนเผชิญวิกฤติโควิด-19 เคยสร้างความมั่งคั่งด้วยรายได้คิดเป็นสัดส่วน 17% ของจีดีพี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงผลักดันการ เปิดประเทศ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าต้องดำเนินการเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือวันที่ 15 ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งเป้าหมายปี 2565 ประเทศไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50% ของรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท จากเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ล้านคนซึ่งคิดเป็นเกือบ 40% ของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปี 2562 ซึ่งปิดที่เกือบ 40 ล้านคน ส่วนรายได้จากตลาดในประเทศ 8.82 แสนล้านบาท จากเป้านักท่องเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้ง อย่างไรก็ตามเป้าหมายดังกล่าวขึ้นกับสถานการณ์ด้วยว่าประเทศไทยจะต้องไม่พบการระบาดของโควิด-19 ระลอก 5

ขณะที่ปี 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท

คาดเปิดเมืองเพิ่มรับทัวริสต์ 1 พ.ย.

กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ร่วมกับ ททท.จัดทำแผนขับเคลื่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ยืนยันว่าจะสามารถเปิดพื้นที่นำร่องได้อีก 5 จังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วและมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบตั้งแต่ประเทศต้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หัวหิน ต.หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่) ได้แน่นอน

แต่ขอเน้นย้ำว่าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญว่าระหว่างก่อนถึงวันที่ 1 พ.ย.นี้ จังหวัดที่กำหนดไว้จะต้องมีการฉีดวัคซีนถึงเกณฑ์ 70% ของประชากรในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และต้องไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ที่เป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่และมีความรุนแรงจนสร้างความกังวลสูงอีกรอบ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนิยมเดินทางไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทะเลหรือภูเขาของประเทศไทย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯด้วยอยู่แล้ว

ทั้งนี้การเปิดพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัดดังกล่าว อยู่ภายใต้แผนระยะที่ 1 (จากทั้งหมด 4 ระยะ) ตามที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบเรื่องไทม์ไลน์ของจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้า (Blue Zone) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.2564 ใช้เกณฑ์เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยว จากจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หัวหิน ต.หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ) ส่วนกระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข จะลงพื้นที่วันนี้ (7 ต.ค.) เพื่อส่งมอบวัคซีนให้แก่ทั้ง 2 จังหวัด

 

เดินหน้ากระตุ้นตลาด

หลังจากได้ดำเนินการระยะนำร่อง เปิดพื้นที่นำร่องใน 4 จังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้จากการท่องเที่ยว ประเดิมด้วยโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โครงการสมุย พลัส โมเดล เปิดพื้นที่นำร่องใน จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) เมื่อวันที่ 15 ก.ค. และโครงการ 7+7 ภูเก็ตเอ็กซ์เทนชั่น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากภูเก็ตใน 7 วันแรก ไปยังพื้นที่นำร่องอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่) และกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล)

“การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะที่ 1 จะเป็นการเปิดแบบกึ่งปกติ ไม่ได้เป็นการเปิดเหมือนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เนื่องจากไม่ได้เป็นระยะนำร่องทดลองเหมือน 4 จังหวัดที่เปิดไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยวันที่ 1 พ.ย.นี้ จ.กระบี่ และ จ.พังงา จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบทั้งจังหวัด ไม่จำกัดเฉพาะในบางที่เหมือนเดิมระยะนำร่อง”

 

มั่นใจทัวริสต์ไม่นำเชื้อเข้าประเทศ

ทั้งนี้การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนไทยเจ้าของพื้นที่ที่ต้องพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย โดยมองว่าไม่ต้องกลัวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทย เพราะทุกคนต่างได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสและมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากประเทศต้นทางก่อนเข้ามาแล้ว และเมื่อประเมินผลการดำเนินงานของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบว่าจากสถิติเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวสะสม 97 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-5 ต.ค.2564 รวม 42,006 คน คัดกรองพบผู้ติดเชื้อ 133 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% และไม่พบการแพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่คนไทย หรือคนไทยสู่ชาวต่างชาติ

สำหรับแนวทางการจับคู่แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศแบบไม่ต้องกักตัว หรือ ทราเวล บับเบิล (Travel Bubble) ขณะนี้มีการหารือแบบไม่เป็นทางการกับหลายประเทศ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯมั่นใจว่าปลายปี 2564 จะสามารถเริ่มทำทราเวลบับเบิลกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทยได้แน่นอน เช่น กัมพูชา (เช่น จ.ตราด กับเกาะกง) สปป.ลาว (เช่นบับเบิลกับ จ.หนองคาย) และมาเลเซีย (เกาะลังกาวีกับเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล) ภายใต้เงื่อนไขหลักคือคนในพื้นที่จะต้องได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว รวมถึงชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาก็ต้องได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเช่นกัน

ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นปลายปีนี้ จะมีโครงการรัฐกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย

 

กพท.ชงคลายล็อกที่นั่งบนเครื่องบิน 100%

ด้านนายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กพท.ได้เสนอให้ที่ประชุม ศบค.วันที่ 10 ต.ค.นี้ พิจารณาคลายล็อกการจำกัดปริมาณที่นั่งบนเครื่องบินจาก 75% เพิ่มเป็น 100% ตามปกติ เพื่อให้ทัน 15 ต.ค.นี้ รองรับกระแสการเดินทางในช่วงไฮซีซั่น พร้อมกันนี้จะขอให้กระทรวงมหาดไทยประสานไปยังแต่ละจังหวัดเพื่อออกมาตรการรับนักท่องเที่ยวหรือเปิดให้คนเข้าเมืองเหมือนกันทุกจังหวัดเพื่อลดความสับสนแก่ประชาชน

 

ไตรมาส4โหลดแฟคเตอร์ฟื้น 80%

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า คาดว่าในไตรมาส 4/2564 อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) จะมีไม่น้อยกว่า 80% หลังจากเดือน ต.ค.นี้ได้เพิ่มเที่ยวบินภายในประเทศครบ 20 เส้นทาง ที่ความถี่เฉลี่ย 30 เที่ยวบินต่อวัน หรือคิดเป็น 25% ของความสามารถในการรองรับที่มีอยู่ โดยใช้เครื่องบิน 10 ลำ จากปัจจุบันมีทั้งหมด 60 ลำ ส่วนในเดือน พ.ย.นี้จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินด้วยการใช้เครื่องบินเพิ่มเป็น 20 ลำ และในเดือน ธ.ค.นี้จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินและใช้เครื่องบินเพิ่มเป็น 30 ลำหรือกลับมาบินในประเทศได้ 100% เหมือนกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

“และจากการที่ กพท.ได้เสนอให้ ศบค.พิจารณาคลายล็อกเพิ่มปริมาณที่นั่งภายในเครื่องบินเป็น 100% จากปัจจุบันอยู่ที่ 75% ของจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินทั้งหมด จะช่วยทำให้ต้นทุนต่อที่นั่งลดลงไปประมาณ 20-30%”

ทั้งนี้ไทยแอร์เอเชียคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนผู้โดยสาร 4 ล้านคน ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 9.49 ล้านคน เทียบกับปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 22 ล้านคน

 

นำTAAจดทะเบียนในตลาดฯแทน AAV

นายสันติสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการปรับโครงสร้างกิจการ ยังคงแผนเดิมที่นำบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่จะเลิกกิจการไป ขณะที่เงินทุนใหม่ที่จะนำมาจากนักลงทุนใหม่ ยังคงเป็นกลุ่มเดิมแต่อาจจะมีจำนวนผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการจึงอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ กพท. หากหน่วยงานดังกล่าวเห็นด้วย ก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯเพื่ออนุมัติ และคาดว่าภายใน 90 วันหลังบอร์ดอนุมัติจะมีเงินทุนก้อนใหม่เข้ามา

 

แอร์ไลน์ยังรอซอฟท์โลนรักษาจ้างงาน

อย่างไรก็ดี ไทยแอร์เอเชียยังคงรอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จากรัฐบาลเพื่อนำมาเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน ซึ่งวันนี้ไทยแอร์เอเชียมีพนักงาน 5 พันคนและไม่มีการปลดพนักงาน โดยได้เตรียมความพร้อมของบุคคลากร ทั้งเรื่องฝึกอบรมต่อเนื่อง การมีใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องบินให้พร้อมสำหรับรองรับการเดินทางได้ทุกเมื่อ

สำหรับเรื่องที่สมาคมสายการบินประเทศไทยได้หารือร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับประเด็นเงินกู้ที่จะได้รับเพิ่ม 30% จากสถาบันที่มีสินเชื่อนั้น นายสันติสุข กล่าวว่า ทางธนาคารที่บริษัทฯกู้อยู่ก็ไม่อนุมัติเงินกู้เพิ่ม ดังนั้น รมว.การคลัง จะไปดูเพิ่มว่าจะแก้เงื่อนไขให้สถาบันการเงินอื่นให้เงินกู้ได้หรือไม่

“ขณะเดียวกันสมาคมสายการบินประเทศไทยจะมีการหารือเรื่องการขอซอฟท์โลนกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย แต่ยังรอกำหนดวันและเวลาอย่างเป็นทางการว่าเป็นเมื่อไร” ซีอีโอไทยแอร์เอเชียกล่าว